(เพิ่มเติม) SCB EIC คาดเศรษฐกิจไทยปี 62 โต 4% ชะลอจากปีนี้คาดโต 4.5% มองสงครามการค้ากดดันภาคส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 16, 2018 12:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 62 จะขยายตัวชะลอลงมาที่ 4.0% จากปีนี้คาดขยายตัวในอัตรา 4.5% แต่อย่างไรก้ตาม ยังถือว่าเป็นอัตราสูงสำหรับเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีก่อนหน้าที่เติบโตเฉลี่ยต่ำกว่า 3% ต่อปี

ทั้งนี้ SCB EIC คาดว่าการส่งออกของไทยมีแนวโน้มชะลอลงตามเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญจากผลกระทบของสงครามการค้าและภาวะทางการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวไทยจะเผชิญกับข้อจำกัดจากความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของสนามบินสำคัญต่างๆ ของไทย

ด้านการใช้จ่ายด้านการลงทุนในประเทศจะมีการขยายตัวที่เร่งขึ้นนำโดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้น และสนับสนุนการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด SCB EIC กล่าวว่า EIC ประเมินอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) จะขยายตัว 4% ในปี 62 ชะลอลงจากปีนี้ที่ประเมินว่าขยายตัว 4.5% แม้ว่าจะชะลอตัวลงแต่เป็นตัวเลขที่สูงสำหรับเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีก่อนหน้าที่เติบโตเฉลี่ยต่ากว่า 3% ต่อปี

ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 62 ชะลอตัวลงจากปีนี้ คือ การส่งออกที่มีโน้มชะลอลงตามเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่จะเห็นความรุนแรงและความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์หลายสถาบันคาดไว้ และส่งผลกระทบต่อภาครวมการค้าโลกที่ชะลอตัว โดยที่ประเมินการขยายตัวของภาคส่งออกไทยในปีหน้าจะขยายตัวได้ 4.7% ชะลอตัวจากปีนี้ที่คาดว่าขยายตัวได้ถึง 8.5%

ขณะเดียวกัน ปัจจัยของสงครามการค้ายังส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการสงทุนของภาคเอกชนและนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่อาจจะเกิดข้อจำกัดในการตัดสินใจเข้ามาลงทุน เพราะจะต้องมีการประเมินผลกระทบจากสงครามการค้าอย่างรอบคอบก่อน

แต่ในภาพรวมการลงทุนภาคเอกชนเชื่อว่ายังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องเป็น 4% ในปี 62 จากปีนี้ที่ 3% โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการลงทุนภาครัฐที่โครงการขนาดใหญ่ต่างๆ จะมีความชัดเจนมากขึ้น และการเลือกตั้งในปี 62 จะช่วยสร้างความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น และการส่งออกยังคงมีการเติบโตได้แม้ว่าจะชะลอตัวลง รวมไปถึงกฎหมายเกี่ยวกับการจ้างแรงงานต่างด้าวจะไม่มีผลกระทบมากเท่ากับปีนี้

ส่วนภาคการท่องเที่ยวไทยในปี 62 คาดว่าจะขยายตัวได้ 6% ชะลอตัวลงจากปีนี้เล็กน้อยที่คาดว่าโต 8% เนื่องจากรับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจีนที่หายไปหลังจากเกิดเหตุการณ์เรือล้มในจังหวัดภูเก็ต แต่ยังมีนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียเข้ามาช่วยชดเชย อีกทั้งประเทศไทยยังมีข้อจำกัดของสนามบินรองรับนักท่องเที่ยวได้ไม่เพียงพอและเริ่มหนาแน่น ซึ่งทางภาครัฐอยู่ระหว่างการขยายสนามบินต่างๆ แต่ยังคงต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควรกว่าจะสามารถเปิดบริการได้ แต่อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวจะยังคงเป็นปัจจัยหลักในการช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง

ด้านรายได้ครัวเรือนไทยเริ่มเห็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะก่อนที่การใช้จ่ายจะกระจายตัวและเร่งตัวขึ้น แม้รายได้ครัวเรือนไทยจะมีการฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของปี 61 โดยรายได้กษตรกรเพิ่มขึ้น 17% ขณะที่ค่าจ้างงของกลุ่มแรงงานที่ป็นลูกจ้างเพิ่มขึ้น 2.4% แต่ EIC มองว่าการฟื้นตัวดังกล่าวยังไม่สามารถนำไปสู่การเร่งตัวของการใช้จ่ายได้รวดเร็วนัก เพราะรายได้ครัวเรือนเพิ่งเริ่มฟื้นตัวหลังจากรายได้เกษตรกรหดตัวลงต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังของปี 60 ถึงช่วงไตรมาส 1/61

ขณะที่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาค่าจ้างของกลุ่มลูกจ้างขยายตัวในอัตราเฉลี่ยน้อยกว่า 2% ต่อปี จึงทำให้รายได้ที่แท้จริงหลังหักเงินเฟ้อค่อนข้างทรงตัว นอกจากนี้ภาระหนี้ครัวเรือนของไทยคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อการใช้จ่าย โดยมองว่าค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ แม้อัตราการว่างงานจะค่อนข้างต่ำ สะท้อนถึงอุปทานส่วนเกินในตลาดแรงงาน (slack) ที่เห็นได้จากจำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยที่การทำงานแบบล่วงเวลาลดลง (OT) และสัดส่วนของจำนวนคนที่ว่างงานมากกว่า 6 เดือนสูงขึ้น เป็นผลจากปัจจัยเชิงวัฏจักรและและปัจจัยเชิงโครงสร้างที่มองว่าเศรษฐกิจจำเป็นต้องขยายตัวได้ดีและต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่งก่อนจะเห็น slack ในตลาดแรงงานลดลง ซึ่งจะทำให้ค่าแรงเร่งตัวขึ้น และในระยะยาวต้องมีการยกระดับผลิตภาพของแรงงานไทยผ่านการเพิ่มทักษะเป็นต่อการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยใหม่ๆเพื่อสนับสนุนรายได้ให้ขยายตัวได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปี 62 ซึ่งจะปรับขึ้นครั้งละ 0.25% โดยที่คาดว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นครั้งแรกอาจจะเป็นช่วงการประชุมในเดือน ธ.ค.นี้ หรือการประชุมครั้งแรกของปี 62

ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ กนง.จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับความเหมาะสมของปัจจัยที่มีผลต่ออัตราดอกเบี้ยโดยเฉละระดับอัตราเงินเฟ้อที่เฉลี่ยทั้งปีจะต้องอยู่ในกรอบที่ 1.1% อีกทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะต้องดูผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ เนื่องจากปัจจุบันแม้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะลดลง แต่เป็นการลดลงอย่างช้าๆ และยังอยู่ในระดับสูงที่ 77.5% ซึ่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาก และอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงได้ ซึ่งมองว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้จะค่อยไปค่อยไป ประกอบกับการใช้มาตรการแม็คโครพรูเด็นเชียลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเงินของไทยที่ดีขึ้น

ส่วนค่าเงินบาทไนปี 62 ประเมินว่าจะแข๊งค่าขึ้นเล็กน้อยเป็น 31.5-32.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากปีนี้ที่ 32-32.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย และเศรษฐกิจไทยที่ยังคงมีความแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพมากขึ้น จากการที่ประเทศไทยยังมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล และมีทุนสำรองระหว่างประเทศแข็งแกร่ง ขณะที่อาจจะยังเห็นกระแสเงินทุนไหลเข้าในตลาดพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากปีนี้ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ