พล.ท.วีรชน สุคนธปฎิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ มีกำหนดการเข้าร่วมประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting : ASEM) ครั้งที่ 12 ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ระหว่างวันที่ 18-19 ตุลาคม 2561
การประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป (ASEM) เป็นกรอบความร่วมมือเดียวระหว่างภูมิภาคเอเชียและยุโรปในขณะนี้ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถหารือแลกเปลี่ยนอย่างเปิดกว้างและสร้างสรรค์ในประเด็นความท้าทายต่างๆ ร่วมกัน โดยส่งเสริมให้มีการกระชับความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือที่ครอบคลุม 3 เสาความร่วมมือหลัก ได้แก่ ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม และวัฒนธรรมผ่านการประชุม กิจกรรมและโครงการต่างๆ ในทุกระดับ ปัจจุบัน ASEM มีสมาชิก 51 ประเทศ และ 2 องค์กร คือ สหภาพยุโรปและสำนักเลขาธิการอาเซียน สำหรับประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการร่วมผลักดันการก่อตั้ง และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด ASEM ครั้งแรก ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2539
หัวข้อหลักของการประชุม ASEM 12 คือ "หุ้นส่วนระดับโลกเพื่อความท้าทายระดับโลก" (Global Partners for Global Challenges) ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะได้แสดงวิสัยทัศน์และท่าทีของประเทศไทย โดยให้ความสำคัญกับความร่วมมือในระบบพหุภาคี การส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนของความเชื่อมโยง การพัฒนาที่ยั่งยืน ความมั่นคงทางทะเลเพื่อส่งเสริมหลักสมุทรภิบาล ซึ่งสอดคล้องกับบริบทที่ไทยมุ่งเป็นสะพานเชื่อมระหว่างกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาค เช่น ACMECS และ ASEAN กับกรอบความร่วมมืออื่นๆ พร้อมทั้งย้ำบทบาทไทยในฐานะประธานอาเซียนในปีหน้า โดยนายกรัฐมนตรีมีกำหนดการที่สำคัญดังนี้
ด้านพ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป (ASEM Summit Meeting) ครั้งที่ 12 หรือ ASEM 12 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ โดยอนุมัติให้นายกรัฐมนตรี หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมฯ เป็นผู้ร่วมให้การรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ภายใต้หัวข้อหลัก "หุ้นส่วนระดับโลกเพื่อความท้าทายระดับโลก" โดยจะมีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ ซึ่งเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกในการส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่สมาชิก ASEM ให้ความสำคัญใน 3 เสาหลัก ประกอบด้วย
เสาที่ 1 การเมืองและความมั่นคง เช่น ความมั่นคงและเสรีภาพทางไซเบอร์และการต่อต้านการก่อการร้าย เสาที่ 2 เศรษฐกิจและการเงิน เช่น การสนับสนุนองค์การการค้าโลก และระบบการค้าที่มีพื้นฐานบนระเบียนกฎเกณฑ์ โดยผู้นำมุ่งมั่นที่จะขยายความร่วมมือในกรอบ ASEM ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและความเชื่อมโยงทางดิจิทัล สนับสนุนการคงไว้และเพิ่มขึ้นของระบบการค้าที่เปิดกว้างแบบพหุภาคีโดยไม่เลือกปฏิบัติ และเสาที่ 3 สังคมและวัฒนธรรม เช่น การศึกษา โดยย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาที่มีคุณภาพว่าเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเครื่องมือในการสร้างพลเมืองที่มีความรับผิดชอบและมีภูมิคุ้มกันทางสังคม