นายพสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของ WEF (World Economic Forum) แถลงรายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก 4.0 (Global Competitiveness Index : GCI 4.0) ซึ่งเปรียบเทียบความสามารถทางการแข่งขันของ 140 ประเทศทั่วโลกว่า ในปีนี้ผลสำรวจชี้ชัดว่าประเทศไทยก้าวสู่ความเป็น 4.0 มากขึ้น โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 38 โดยมีคะแนน 67.5 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน
"นับว่าดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากปีที่ผ่านมา โดย WEF ได้นำเกณฑ์และวิธีการคำนวณตามแนวทาง GCI 4.0 ไปใช้กับข้อมูลของปี 60 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 40 และมีคะแนน 66.3 แสดงให้เห็นว่าเมื่อพิจารณาจากเกณฑ์และวิธีการคำนวณโดยใช้เกณฑ์ 4.0 แล้วประเทศไทยได้ก้าวสู่ความเป็น 4.0 มากขึ้น" นายพสุ กล่าว
ในปีนี้ประเทศที่ได้อันดับ 1-10 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ตามมาด้วย สิงคโปร์ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง สหราชอาณาจักร สวีเดน และ เดนมาร์ก ตามลำดับ
สำหรับคะแนนและอันดับของประเทศนั้น หากเปรียบเทียบกับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก จะพบว่า ด้านที่มีอันดับที่ดีและส่งผลบวกต่อดัชนีความสามารถทางการแข่งขันโดยรวม ได้แก่ ด้านระบบการเงิน (Financial system) ที่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 14 ของโลก และได้รับคะแนน 84.19 (จาก 100) โดยในด้านระบบการเงินนั้นมีปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความพร้อมของเงินทุน การให้สินเชื่อ ผลิตภัณฑ์การเงินประเภทต่าง ๆ รวมทั้งระบบในการลดและกระจายความเสี่ยงต่างๆ ทางด้านการเงิน
ตัวอย่างของปัจจัยต่างๆ ภายใต้ด้านการเงิน ประกอบด้วย วงเงินสินเชื่อที่มีให้กับภาคเอกชน หรือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือ ความพร้อมทางด้านการเงินในการสนับสนุนต่อ Startups หรือ เสถียรภาพของธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น นอกจากนี้ ด้านขนาดของตลาด (Market size) ประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 18 ของโลก และได้รับคะแนน 74.88 (จาก 100) โดยในด้านขนาดของตลาด จะสะท้อนให้เห็นขนาดของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ที่บริษัทต่างๆ ในประเทศไทยสามารถเข้าถึง โดยเป็นผลรวมของการบริโภคภายในประเทศ การลงทุนและการส่งออก
ส่วนด้านที่ประเทศไทยยังจะต้องพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่ความเป็น 4.0 ให้มากขึ้นนั้น ประกอบไปด้วย ด้านการแข่งขันภายในประเทศ (Product market) ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่อันดับที่ 92 ของโลก ด้วยคะแนน 53.4 โดยในด้านนี้จะเกี่ยวข้องกับระบบการแข่งขันภายในประเทศที่เปิดให้บริษัทต่างๆ ได้มีโอกาสในการแข่งขันอย่างเท่าเทียม รวมทั้งการปิดกั้นและความซับซ้อนของกฎระเบียบต่างๆ โดยการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันของบริษัทต่างๆ และ กฎระเบียบที่ไม่ซับซ้อนและไม่ปิดกั้นต่อการแข่งขัน ย่อมจะนำไปสู่นวัตกรรมในด้านต่างๆ มากขึ้น นอกจากนี้ ด้านการศึกษาและทักษะ (Education & skills) ของประเทศไทย ก็ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ที่ 66 ของโลก ด้วยคะแนน 62.99
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่ม ASEAN (ยกเว้น Myanmar ที่ไม่มีข้อมูล) ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกับประเทศไทยอย่างสูงนั้น ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 3 จาก 12 ประเทศ ซึ่งมีคะแนนอยู่ที่ 67.53 รองจากสิงคโปร์ ที่อยู่อันดับ 1 มีคะแนน 83.48 และมาเลเซีย อยู่ที่อันดับ 2 มีคะแนน 74.38 ซึ่งถือเป็นอันดับที่คงที่ติดต่อกันมาหลายปี ไม่ว่าจะใช้เกณฑ์และวิธีการวัด แบบใด นับว่าเป็นการสะท้อนสถานะทางการแข่งขันที่มั่นคงของไทยในเวที ASEAN ได้เป็นอย่างดี
การจัดอันดับเปรียบเทียบในภาพรวม ของความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศที่ปรากฏใน GCI 4.0 ประกอบไปด้วย 12 ด้าน (Pillars) ที่รวมเข้าเป็นดัชนีองค์รวมดังกล่าว ด้านสภาพแวดล้อมหน่วยงาน (Institutions) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ด้านการประยุกต์ใช้ ICT (ICT Adoption) ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Stability) ด้านสุขภาพ (Health) ด้านการศึกษาและทักษะ (Education and Skills) ด้านการแข่งขันภายในประเทศ (Product Market) ด้านตลาดแรงงาน (Labor Market) ด้านระบบการเงิน (Financial System) ด้านขนาดของตลาด (Market Size) ด้านการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ (Business Dynamism) และ ด้านความสามารถทางนวัตกรรม (Innovation Capability)
นายพสุ กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น พบว่า การเพิ่มขึ้นของคะแนน GCI 4.0 จะส่งผลต่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในระดับรายได้ของแต่ละประเทศ โดยคะแนน GCI 4.0 สามารถอธิบายความแตกต่างของระดับรายได้ของแต่ละประเทศได้ถึง 80% และความแตกต่างในการเติบโตในระยะกลางได้ถึง 70% รวมถึงสามารถอธิบายความแตกต่างในการเติบโตได้กว่า 60% ของความพึงพอใจในชีวิต หรือ Life Satisfaction
"ทาง WEF พยายามชี้ให้เห็นว่า ถ้าประเทศต่างๆมุ่งเน้น 4.0 เพิ่มคะแนน 4.0 ให้ดีขึ้น รายได้ของประชากรก็จะเพิ่มขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะเพิ่มขึ้น และประชาชนของประเทศก็จะมีความสุขมากขึ้น โดยผลสำรวจของปี 61 บ่งบอกชัดเจนระหว่างความสัมพันธ์ของการแข่งขันกับรายได้ ซึ่ง 20 อันดับแรกของโลก เป็นประเทศที่มีรายได้สูงทั้งสิ้น และ 40 ประเทศก็เป็นประเทศที่มีรายได้สูงทั้งสิ้น ยกเว้นอยู่ 3 ประเทศ คือ มาเลเซีย จีน และไทย ซึ่งเราสามารถเพิ่มคะแนนให้สูงขึ้นในปีถัดไปได้โดยเน้นด้านนวัตกรรม"
พร้อมกันนี้ มองด้านที่มีโอกาสของไทยในการเพิ่มคะแนนได้อีกมาก โดยเฉพาะในด้านที่ยังมีคะแนนในระดับต่ำ อย่างด้านนวัตกรรม Innovation และ Product market รวมถึงความปลอดภัยทางทรัพย์สินทางปัญญา อย่างไรก็ตาม ตามแนวทางของ WEF การที่ประเทศจะก้าวไปสู่ความเป็น 4.0 ต้องให้ความสำคัญทั้งหมด 4 ด้าน คือ ระบบเศรษฐกิจและการธุรกิจที่มีความคล่องตัว, นวัตกรรมทั้งระบบ ทั้งด้านที่จับต้องไม่ได้ หรือ ความหลากหลายของคน ความคิดของคน และที่จับต้องได้ และบุคลากรที่มีทักษะและสุขภาพดี รวมถึงรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ที่พร้อมที่จะปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม นโยบาย 4.0 ของรัฐบาล ถือว่ามาถูกทางแล้ว สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จไปอีกขั้น แต่ก็ยังมีข้อกังวลในเรื่องของการปฎิบัติ จากไอเดียที่คิดจะทำยังไงให้นำไปปฎิบัติได้จริง ขณะเดียวกันมองภายหลังมีการเลือกตั้ง แล้วการเมืองยังไม่มีความมั่นคงไปอีก 2-3 ปี ก็น่าจะทำให้ระดับการแข่งขันของประเทศปรับตัวลดลงได้
อนึ่ง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของ WEF ในประเทศไทย เป็นผู้ทำการเก็บข้อมูลเชิงลึกจากแบบสอบถามกับผู้บริหารระดับสูง ขององค์กรขนาดใหญ่และขนาดย่อม ในทุกภาคส่วนอุตสาหกรรม ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดย WEF นำไปคำนวณดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก โดยมีตัวชี้วัด 98 ตัว จัดแบ่งเป็น 12 ด้านดังกล่าว ที่สะท้อนภาพความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ