พาณิชย์ เตรียมเสนอ"มะพร้าว" เป็นสินค้าควบคุม-ชงบอร์ดกนป.เร่งผลักดันส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ เพิ่มปริมาณการใช้ บี 20

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 17, 2018 15:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 18 ต.ค.นี้ ให้พิจารณากำหนดให้สินค้ามะพร้าวและผลิตภัณฑ์ เป็นสินค้าควบคุม ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 ตามที่เกษตรกรเสนอ โดยจะกำหนดมาตรการให้ผู้ที่มีมะพร้าวและผลิตภัณฑ์ไว้ในครอบครอง หากต้องการขนย้าย จะต้องขออนุญาตการขนย้ายก่อน หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ ตามมาตรา 37

อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมการพืชน้ำมันฯ เห็นชอบกรมฯจะเสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน พิจารณาออกประกาศกำหนดเป็นสินค้าควบคุม และกำหนดมาตรการขนย้าย โดยมาตรการนี้จะช่วยป้องกันปัญหาการลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายต่อในประเทศ หรือแปรรูปได้ จากนั้นจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป

"ปัจจุบัน กรมการค้าต่างประเทศมีมาตรการดูแลการนำเข้าอยู่แล้ว แต่ก็ยังพบว่า มีผู้ประกอบการบางส่วนลักลอบนำเข้ามะพร้าวมาจำหน่าย และแปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเมื่อลักลอบนำเข้ามาแล้วก็ตรวจสอบได้ยาก หากนำเข้าสู่บัญชีสินค้าควบคุม และออกมาตรการให้แจ้งก่อนการขนย้ายแล้วจะช่วยควบคุมดูแลได้อีกทางหนึ่ง เพราะต่อไปผู้ประกอบการจะต้องแจ้งให้กรมฯทราบทุกครั้งก่อนการขนย้าย ถ้าขนย้ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีความผิดทั้งจำและปรับ" นายวิชัย กล่าว

สำหรับสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำในขณะนี้ นายวิชัย กล่าวว่า กรมฯ จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ในวันที่ 25 ต.ค.นี้ ให้พิจารณาขยายระยะเวลามาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มออกไปอีก 3 เดือน จากเดิมที่จะสิ้นสุดเดือน ต.ค.นี้ เพื่อให้สามารถใช้มาตรการนี้ผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบได้อย่างต่อเนื่อง

อนึ่ง กนป. ได้มีมติตั้งแต่พ.ค.61 ให้ดำเนินมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ ด้วยการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ 300,000 ตัน โดยรัฐจะสนับสนุนค่าขนส่งให้ผู้ส่งออกกิโลกรัม (กก.) ละ 1.75 บาท คิดเป็นวงเงินรวม 525 ล้านบาท แต่ที่ผ่านมา มาตรการนี้ยังไมได้ดำเนินการ เพราะกระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณที่จะใช้ช่วยเหลือผู้ส่งออก ขณะนี้ได้เร่งรัดการของบประมาณแล้ว หากได้รับการอนุมัติภายในเดือนต.ค.นี้ ก็จะสามารถผลักดันการส่งออกได้ทันที

"ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติ คาดว่า จะได้รับการอนุมัติในเร็วๆ นี้ เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ หากรอให้ผลผลิตปาล์มสดฤดูการผลิตปี 61/62 ออกมา ซึ่งจะออกมากช่วงเดือนพ.ย.-ก.พ.นี้ ก็จะยิ่งทำให้สต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศล้น และกดดันให้ราคาปาล์มสดตกต่ำลงอีก ถ้าสต็อกน้ำมันดิบในประเทศล้นถึง 600,000 ตันเราจะเอาไม่อยู่"

นอกจากนี้จะเร่งผลักดันให้เพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ในรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่ เครื่องจักรกลทางการเกษตร ฯลฯ เพื่อดูดซับน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกิน รวมทั้งเสนอให้กระทรวงพลังงานแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในการใช้น้ำมันบี 20 และมีมาตรการจูงใจให้ผู้ผลิตรถยนต์พัฒนารถยนต์บรรทุกขนาดเล็กให้สามารถใช้น้ำมันบี 20 ได้ด้วย เพื่อรองรับผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบ และรักษาเสถียรภาพราคาผลปาล์มในระยะยาว

รวมทั้ง จะขอความร่วมมือจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้เร่งออกประกาศเรื่อง กำหนดวัตถุดิบและคุณภาพผลิตภัณฑ์ของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ที่กำหนดโรงงานสกัดเอ ต้องสกัดน้ำมันได้ไม่น้อยกว่า 18% และโรงบีต้องสกัดน้ำมันได้ไม่น้อยกว่า 30% เพื่อให้มีการบังคับใช้โดยเร็ว

"หากมาตรการเร่งส่งออก และเพิ่มปริมาณการใช้ บี 20 ดำเนินการได้ทันที จะช่วยดึงน้ำมันปาล์มส่วนเกินออกจากสต็อกได้เดือนละ 120,000-150,000 ตัน และจะทำให้สต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศที่ขณะนี้อยู่ที่ 350,000-380,000 ตัน ลดลงได้ครึ่งหนึ่งภายใน 3 เดือน และมาอยู่ในระดับสต็อกที่ปลอดภัยที่ 200,000 ตัน" นายวิชัย กล่าว

นายวิชัย กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำว่า มาจากผลผลิตทั่วโลกเพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้ราคาลดลง โดยล่าสุด ราคาผลปาล์มสดเฉลี่ย จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี กก.ละ 2.90-3.40 บาท เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 18% จากก่อนหน้านี้ที่สูงกว่า กก.ละ 3.40 บาท ขณะที่ต้นทุนเกษตรกรอยู่ที่ กก.ละ 3.40-3.80 บาท แต่บางพื้นที่ที่ไม่มีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ราคาจะต่ำกว่านี้ เพราะเกษตรกรต้องขายให้ลานเท (พ่อค้าคนกลางรวบรวมปาล์มจากเกษตรกรไปขายต่อให้โรงงานสกัด) โดยจะถูกหักค่าขนส่ง กก.ละ 0.80-1 บาท ส่วนราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ กก.ละ 17-18 บาท จากก่อนหน้านี้ กก.ละ 19 บาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ