PTT-ไทยเบฟ-ซีพี-CPN-ERW-S-UV-SCC-CK-BEM-SIRI-NWR-BLAND-NOBLE-SENA-PLE ร่วมเวที Market Sounding พื้นที่แปลง A บางซื่อ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 17, 2018 15:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 200 คนจาก 68 หน่วยงานเข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นภาคเอกชนในการลงทุน (Market Sounding) โครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน แปลง A มูลค่า 1 หมื่นล้านบาทที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดขึ้นในวันนี้ ซึ่งเป็นตัวแทนจากสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงซัพพลายเออร์ ผู้รับเหมาก่อสร้าง และองค์กรต่างประเทศ

ตัวแทนจากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ได้แก่ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN), บมจ. สิงห์ เอสเตท (S), บมจ.ดิ เอรวัณ กรุ๊ป(ERW), TCC Group ซึ่งเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในคเรือไทยเบฟ , บมจ.ยูนิเวนเจอร์(UV), บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ (NOBLE), บมจ.บางกอกแลนด์ (BLAND) , บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด, บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) , บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ,

บริษัท เค.อี.แลนด์ จำกัด ,บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (ENCO) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบมจ.ปตท (PTT), บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM), บมจ.ช.การช่าง (CK) , บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ (NWR), บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) , บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง (PLE)

บมจ.ซีพีแลนด์ ,บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) , บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO), ,บมจ. เสนาดีเวลอปเม้นท์ (SENA), บมจ.แสนสิริ (SIRI), บริษัท ไทยโอบายาชิ จำกัด ,บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ,ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารไทยพาณิชย์ , ธนาคารกสิกรไทย ,บลจ.ภัทร,บริษัท โจนส์ แลง ลาซาล์ (ประเทศไทย)จำกัด, บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด

Bangkok Shuho International ,Hankyu Hanshin Properties, Kyushu Railway Company, Marubeni Thailand Co.,Ltd, Mitsubishi Estate Asia Pte.Ltd ,Mitsubishi heavy Industries (Thailand) , Sumitomo Realty&Development ,Sumitomo Corporation, Singapore Technologies Engineering Ltd. เป็นต้น

สำหรับพื้นที่แปลง A มีเนื้อที่ประมาณ 32 ไร่ มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท มีแผนพัฒนาเป็นศูนย์กลางธุรกิจครบวงจร โดยเป็นแหล่งรวมอาคารสำนักงาน โรงแรม และพื้นที่การค้าปลีก โดยจะเปิดให้เอกชนและนักลงทุนที่สนใจร่วมลงทุนในรูปแบบ DBFOT (Design/Build/Finance/Operate/Transfer) ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี โดยกระทรวงคมนาคม และ รฟท.ร่วมกับองค์การร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ศุนย์คมนาคมพหลโยธิน พื้นที่รวม 2,325 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 9 แปลง มีการพัฒนา 3 ระยะ มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2565, 2570 และ 2575 ตามลำดับ ในเบื้องต้น รฟท.จะนำพื้นที่เชิงพาณิชย์แปลง A ซึ่งตั้งอยู่บริเวณทิศใต้ของสถานีบางซื่อ และเป็นแปลงที่อยู่ติดสถานีกลางบางซื่อมาพัฒนาเป็นลำดับแรกเพื่อให้สอดรับกับการเปิดให้บริการของสถานีกลางบางซื่อ

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า พื้นที่แปลง A จะเป็น Smart Business Complex เพราะอยู่ใกล้สถานีกลางบางซื่อประมาณ 100 เมตร ที่จะเป็นชุมทางการเดินทาง โดยในปี 64 จะมีรถไฟชานเมืองสายสีแดงเปิดให้บริการ ปี 65-66 รถไฟสายสีชมพูเปิดให้บริการ และในปี 66 รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ- นครราชสีมา และ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะเปิดให้บริการ และปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเดินรถอยู่และจะเดินรถครบทั้งเส้นทางในปี 64

ทั้งนี้ คาดว่าพื้นที่แปลง A ดำเนินโครงการ Mixed Use ทั้งนี้เปิดประมูลต้นปี 62 และคาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ปลายปี 62 ในปี 63 ดำเนินการจัดทำผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) และจะเริ่มก่อสร้างในปี 63 โดยใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปีในปี 66 แต่จะเปิดบางส่วนในปี 64

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวว่า การสร้างสถานีกลางบางซื่อแห่งใหม่นี้ ทำให้พื้นที่โดยรอบกลายเป็น CBD แห่งใหม่ ฮวงจุ้ยกรุงเทพจะเปลี่ยนไป จากเดิมมีสถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นศูนย์กลางและบริเวณรอบจะเป็น Old City ทั้งนี้ สถานีกลางบางซื่อจะเป็นศูนย์กลางการเดินทางแห่งใหม่โดยคาดว่ามีจำนวนผู้โดยสาร 2 แสนเที่ยว/วันในปี 64 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 4 แสนเที่ยว/วันในปี 75 ทั้งนี้หากเอกชนเสนอเป็น Smart City จะได้รับสิทธิประโยชน์การลงทุน (BOI) ด้วย

"สถานีกลางบางซื่อจะเป็นฮวงจุ้ยใหม่ เป็น New CBD และตั้งใจจะให้รองรับการขยายตัวของกรุงเทพมหานคร ...มีความเป็นไปได้ที่เอกชนไทยจะร่วมกับต่างประเทศ"รมช.คมนาคมกล่าว

ขณะที่ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า พื้นที่เชิงพาณิชย์ แปลง A มีพื้นที่ใช้สอย 2.6 แสนตร.ม.นับว่าเป็นโครงการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) เป็นแปลงใหญ่ และไม่เคยมีการพัฒนาในลักษณะนี้มาก่อน ทำให้มีผู้สนใจและติดต่อเข้ามามาก ถือว่าพื้นที่นี้มีศักยภาพสูง ทั้งนี้ หลังจากประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ แปลง A ที่จะเป็นศูนย์กลางธุรกิจสมัยใหม่ครบวงจรแล้ว จากนั้นจะพัฒนาระยะที่ 2 ในปี 66-70 มี Zone C, Zone F และ Zone D ส่วนการพัฒนาระยะที่ 3 ในปี 71-75 มี Zone B, Zone H และ Zone I

ในที่ประชุม ได้มีคำถามส่วนใหญ่เป็นเรื่องอายุสัมปทานที่เห็นว่าให้ระยะเวลาน้อยเพียง 30 ปี โดยเสนอให้เป็นสัญญาเดียว 90 ปี หรือ 60 ปี หรือ 50 ปี , เงินที่ต้องจ่ายหรือค่าเช่ามีรายละเอียดไม่ชัดเจน, ที่ดินที่ส่งมอบ หากเซ็นสัญญาแล้วไม่สามารถส่งมอบได้ก็จะเป็นปัญหาในการดำเนินการ เรื่องนี้ รฟท.ต้องเคลียร์พื้นที่ให้เร็ว ขณะที่ที่ดินแปลง A ทำอาคารสูงได้เพียง 25 ชั้น จะต้องสร้างลงใต้ดิน ซึ่งพื้นที่ใต้ดินมีทั้งประปา ท่อระบายน้ำ ท่อก๊าซ รฟท.จำเป็นต้องเคลียร์พื้นที่ทั้งหมดด้วย รวมทั้งเห็นว่าการขออนุญาตควรจะรวมเป็นศูนย์เดียว จากปัจจุบันขออนุญาตหลายหน่วยงาน

แหล่งข่าวจากกลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า โครงการนี้มีเอกชนสนใจมากแต่ไม่กล้าออกตัว อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมี 3 กลุ่มเข้ามาประมูล ได้แก่ กลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งถอยไม่ได้แล้ว เพราะเป็นรายเดียวที่ยึดทำเลพหลโยธินเห็นหลักเหมือนอยู่หัวถนนแล้ว นอกจากนี้ คาดว่ากลุ่มสิงห์จะมาร่วมประมูลแน่นอน และกลุ่มซีพี ขณะที่กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ มองว่ากลุ่มนี้มีโครงการใหญ่อยู่ในมืออยู่แล่ว คือ โครงการ One Bangkok

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าควรจะย่อยพื้นที่เพื่อให้เริ่มพัฒนาได้ก่อน โดยพื้นที่เชิงพาณิชย์ แปลง A ที่แยกเป็น A1, A2 และ A3 นั้น ควรจะซอยย่อยเป็น A1.1 เพื่อให้เข้าพัฒนาช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ และที่จอดรถ เพราะเงินลงทุนไม่สูงประมาณ 5 พันล้านบาท เพื่อรองรับการเปิดสถานีกลางบางซื่อในปี 64


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ