KBANK มองแนวโน้มบาทผันผวนสูงตามปัจจัยตปท.คาดอ่อนค่าแตะ 33 สิ้นปีนี้ก่อนแข็งค่าสู่ 31.80 บาท/ดอลลาร์ต้นปี 62

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 17, 2018 17:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทในปัจจุบันมีความผันผวนค่อนข้างสูงมาก แต่คาดว่าจะยังมีทิศทางอ่อนค่ามาอยู่ที่ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐในช่วงสิ้นปีนี้ โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการอ่อนค่าของค่าเงินบาทมาจากปัญหาของจีนที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินในประเทศเกิดใหม่ โดยเฉพาะสงครามการค้าที่กับสหรัฐ ทำให้ดัชนีภาคการผลิตของจีนเริ่มชะลอตัว และนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของจีน ทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และกระทบมาถึงค่าเงินบาทด้วย

ในเบื้องต้นค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าจนถึงช่วงปลายปี จากความเสี่ยงด้านนโยบายกีดกันทางการค้าโลก และความเสี่ยงในตลาดเกิดใหม่ แต่ในระยะต่อไปเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า คาดว่าจะไปอยู่ที่ 31.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงไตรมาส 1/62 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างสมดุลมากขึ้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยและเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่ยังแข็งแกร่งจะยังดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งจะเห็นได้จากกระแสเงินทุนไหลเข้ามายังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ซึ่มุมมองของนักลงทุนต่างชาติยังมองว่าประเทศไทยเป็นแหล่งพักเงิน และมั่นใจความปลอดภัยของการนำเงินมาพัก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพ มีทุนสำรองระหว่างประเทศที่ในระดับสูง และมีสภาพคล่องสูงถึง 61% ของจีดีพี

นายกอบสิทธิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีกระแสเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตรของไทยเป็นจำนวนมาก มูลค่า ณ วันที่ 16 ต.ค. 61 อยู่ที่ 956,157 ล้านบาท แบ่งเป็นพันธบัตรระยะยาว 776,377 ล้านบาท และพันธบัตรระยะสั้น 179,820 ล้านบาท ในขณะที่เงินไหลออกจากตลาดหุ้นตั้งแต่ต้นปี 61 ถึงเมื่อวานนี้ราว 245,772 ล้านบาท และคาดว่าค่าบาทในสิ้นปี 62 จะอยู่ที่ 32.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ

ส่วนการคาดการณ์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดว่าจะเริ่มเห็นการปรับขึ้นในช่วงไตรมาส 1/62 เป็นครั้งแรก เพราะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมหลังจากอัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นตามกรอบของธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) และเป็นช่วงที่จะมีการจัดเลือกตั้ง พร้อมกับคาดการณ์วาตลาดหุ้นจะปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเอื้อต่อการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมากกว่าในช่วงปลายปีนี้

ด้านเศรษฐกิจโลกยังคงมีแนวโน้มขยายตัวจากเศรษฐกิจสหรัฐฯที่เร่งตัวขึ้น เนื่องจากปัจจัยการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวดี รวมถึงตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง ด้านเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มขยายตัว แต่มีความเสี่ยงสำคัญจากอิตาลี ขณะที่เศรษฐกิจจีนจะยังคงการชะลอตัวโดยรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ความเสี่ยงหลักของโลก คือ นโยบายกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนที่อาจทำให้การส่งออกของไทยไปจีนตามห่วงโซ่อุปทานชะลอลง และในระยะปานกลางหากข้อพิพาทยืดเยื้อ

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นคาดว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกตามเศรษฐกิจโลกขณะที่การลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น ซึ่งประเมินเศรษฐกิจไทยปี 61 ขยายตัว 4.6% และปี 62 ขยายตัว 4% ขณะที่ภาคการส่งออกจะขยายตัว 8.8% ในปี 61 และขยายตัว 5% ในปี 62


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ