กสทช.ห่วง 5G ทำอุตสาหกรรมลดกำลังคนแนะรัฐเตรียมรับมือ พร้อมทบทวนการจัดสรรคลื่นเปิดทางให้เทคโนโลยีเกิด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 18, 2018 11:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงการประชุม International Workshop on the Fifth Generation Mobile Communications Systems (5G) 2018 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นว่า จากการเข้าร่วมการประชุมองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) เมื่อเดือน ก.ย.61 มีการคาดการณ์ว่าเทคโนโลยี 5G จะให้บริการเชิงพาณิชย์ในปี 63

ทั้งนี้ การเกิดขึ้นของ 5G จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อทุกสรรพสิ่งด้วยอินเทอร์เน็ต และการมาของปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะมีผลกระทบให้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่เข้ามาแทนที่การทำงานโดยมนุษย์ และอาจส่งผลกระทบให้มีกลุ่มอาชีพที่ตกงาน เรื่องนี้ถือเป็นข้อห่วงใยของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) เพราะหากเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่ต้องมีผลกระทบให้กลุ่มบุคคลที่ต้องประสบกับปัญหาการตกงาน จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องหาทางรับมือ

นายฐากร กล่าวว่า เมื่อ 5G เข้ามาในประเทศไทยจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตใน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ภาคการผลิต ที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมจะลดการใช้แรงงานในส่วนของภาคการผลิตลง 30-40% 2.ภาคการเงินการธนาคาร โดยธนาคารจะต้องมีการทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง และ 3.ภาคการแพทย์ สาธารณสุข ที่จะต้องปิดตัวลงเช่นกัน ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นเดียวกัน

ภาคส่วนที่สำคัญในการผลักดันให้เกิด 5G ได้ คือ รัฐบาลไม่ใช่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอร์เรเตอร์) เพราะโอเปอร์เรเตอร์ต้องใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งรัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ โดยทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างเงิน สร้างอาชีพ และ 5G จะเข้ามาสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ให้เกิดการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ด้านนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า กสทช.จะร่วมขับเคลื่อนการเข้าสู่ 5G โดยการสนับสนุนคลื่นความถี่ให้มีราคาเริ่มต้นที่ถูกลง และเปิดประมูลคลื่นความถี่ในย่านต่ำ ยกตัวอย่าง ประเทศเยอรมัน เกาหลี อิตาลี ที่เปิดประมูลคลื่นความถี่ใหม่ที่มีราคาถูกลง ขณะที่ ทั่วโลกใช้วิธีเดียวกัน คือ ประเมินราคาจากทั่วโลก ในการประมูลคลื่นความถี่ โดยรูปแบบการประมูลจะเอาหลายคลื่นมาประมูลพร้อมกันโดย กสทช.ยังมีเวลาคิดอีกกว่า 2 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ