นายชาญชัย ชัยประสิทธิ์ หัวหน้าสำนักงานตรวจสอบบัญชี และหุ้นส่วนบริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยในงานสัมมนาประจำปี PwC Thailand’s Symposium 2018 ในหัวข้อ"บริหารความท้าทาย เตรียมความพร้อมองค์กรสู่การเติบโต" (Managing challenges to unleash corporate growth) ว่า การยกระดับมาตรฐานบัญชีใหม่ให้มีความเป็นสากลได้เร็ว จะช่วยให้การรายงานทางการเงินของบริษัทไทยได้รับการยอมรับและมีความน่าเชื่อถือในสายตานักลงทุนมากขึ้น สามารถเปรียบเทียบกับรายงานทางการเงินของบริษัทต่างชาติได้ ซึ่งปัจจุบัน IFRS (International Financial Reporting Standards) เป็นที่ยอมรับจากทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับธุรกิจไทยและเศรษฐกิจของประเทศ จากการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ การระดมทุน การไปลงทุนทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ธุรกิจไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด
"เราอยากเห็นวิสาหกิจไทยปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานสากลมากขึ้น และถ้ามีการปรับเข้าสู่สากลได้เร็ว ก็จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติ และสร้างการเติบโตทางธุรกิจให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่หากเริ่มใช้ IFRS9 ช้า จะมีผลต่ออันดับเครดิตเรทติ้ง โดยเฉพาะการหาแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศที่ใช้ IFRS9 แล้ว ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศสูงขึ้น"
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทไทย โดยเฉพาะสถาบันทางการเงินมีการเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลและระบบ เพื่อรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 เกือบสมบูรณ์แล้ว ส่วนธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาก็พบว่า มีการตื่นตัวในการทำบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานมากขึ้น โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทายาทรุ่นที่ 3 และ 4 รวมถึงเริ่มเห็นกระแสผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสตาร์อัพ มีความต้องการระดมทุนผ่านตลาดทุนเพื่อขยายตลาดมากขึ้น
อีกทั้งบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี ก็เริ่มมีการวางแผนออกบิทคอยน์ผ่านการระดมทุนในตลาด ICO เนื่องด้วยทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ใหม่สำหรับกิจการที่ต้องการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่ากิจการจะต้องมีการจัดทำรายงานทางการเงินตามมาตรฐาน TFRS เป็นเวลา 3 ปี และรายงานฉบับดังกล่าวจะต้องถูกตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีที่สำนักงานได้ความเห็นชอบ ซึ่งหลักเกณฑ์ใหม่ดังกล่าว ก.ล.ต.จะมีผลบังคับใช้ในปี 67
หลักเกณฑ์ใหม่ของสำนักงาน ก.ล.ต. จะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีและธุรกิจทั่วไปที่ต้องการระดมทุนในตลท. ต้องใช้เวลาเตรียมตัวมากขึ้น ดังนั้น เชื่อว่าในช่วง 3-4 ปีนี้จะได้เห็นบริษัทต่างๆ เร่งดำเนินขั้นตอนเข้าจดทะเบียนใน ตลท.เพิ่มขึ้นเพื่อให้ทันใช้ในเกณฑ์เดิม ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการจัดเตรียมรายงานทางการเงิน และลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับรายงานทางการเงิน
สำหรับบริษัทที่ยังไม่เคยเตรียมตัวรองรับมาตรฐาน IFRS9 รวมไปถึงมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับอื่นๆ ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น สิ่งที่ควรทำคือ วิเคราะห์ว่ามาตรฐานรายงานการเงินฉบับใหม่มีผลกระทบต่องบการเงินของบริษัทอย่างไรบ้าง ทั้งในแง่ของข้อแตกต่างด้านเนื้อหา ตัวเลข และการเปิดเผยข้อมูล และศึกษามาตรฐานบัญชีฉบับใหม่อย่างละเอียด เพื่อหาทางแก้ไข ซึ่งหากเกินความสามารถของบริษัท ก็ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพราะจะช่วยวิเคราะห์ผลกระทบและหาทางออก ได้รวดเร็วและตรงจุด
ขณะที่เริ่มเห็นสัญญานการชะลอแผนเข้าลงทุนหรือซื้อกิจการของบริษทจดทะเบียน (บจ.) ทุกรูปแบบ เพื่อรอผลการเลือกตั้งในปีหน้า และนโยบายของพรรคที่ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
นายชาญชัย กล่าวว่า การเข้าสู่ยุคดิจิทัล หรือในยุคของ DATA จะเป็นความท้าทายของมาตรฐานบัญชีใหม่ เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีระบบ 5G หรือ Internet of Thing จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และเข้ามามีส่วนเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน โดยเฉพาะการนำหุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนคน ในงานที่เป็นงานประจำวัน หรืองานที่ไม่ได้ใช้วิจารณญาณ ซึ่งงานเหล่านี้จะสูญพันธุ์ในอนาคต ขณะที่งานที่จะอยู่รอดได้ คืองานที่ต้องใช้ความคิด
โดยผู้ประกอบการควรนำเอาเทคโนโลยีมาปรับระบบบัญชีไทยสู่มาตรฐานสากล เนื่องจากหากผนวกเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับข้อมูลได้ จะช่วยในเรื่องการจัดทำรายงานการเงินได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการตรวจสอบบัญชี ช่วยให้รายงานมีความถูกต้องเหมาะสมมากขึ้น ซึ่งเป็นการตอบข้อสงสัยของนักลงทุนในด้านความเป็นกลาง และความน่าเชื่อถือในด้านของข้อมูล อีกทั้งยังช่วยเอื้อให้ธุรกิจไทยสามารถยกระดับมาตรฐานการรายงานทางการเงินสู้สากลได้อย่างรวดเร็ว เช่น การวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐาน IFRS9 เรื่องเครื่องมือทางการเงิน, มาตรฐาน TFRS15 รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า และมาตรฐาน TFRS 16 สัญญาเช่า ต่างนำแนวคิดการคาดการณ์ไปยังอนาคตมาใช้แทบทั้งสิ้น
"การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกิดผลกระทบในด้านการเงิน โดยเฉพาะการทำบัญชี ซึ่ง AI ระบบกระบวนการทำงานอัตโนมัติโดยหุ่นยนต์, RPA การวิเคราะห์ข้อมูล, Data Analystics และเทคโนโลยี Cloud จะเข้ามาช่วยบันทึกและวิเคราะห์กระบวนการทำงานของผู้สอบบัญชี ทำให้สามารถประมวลผลได้ภายในเสี้ยววินาที เพราะในยุคที่บริษัทแข่งขันกันด้วยข้อมูล ใครมีข้อมูลที่สามารถนำไปวิเคราะห์ได้มากกว่าก็จะได้เปรียบ"
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการควรเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีเพื่อประมวลผลจัดการข้อมูลได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรเพื่อวิเคราะห์และจัดการกับข้อมูล เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับบริษัท อีกทั้งต้องศึกษาถึงผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะกระทบกับธุรกิจ พฤติกรรมผู้บริโภค และนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ ในการพัฒนานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใดถึงจะสอดคล้องกับแผนธุรกิจ รวมถึงจัดทำแผนการลงทุน เตรียมความพร้อมด้านทักษะของบุคคลากร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้ตามเป้าหมาย และเติบโตกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
นายชาญชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทคาดรายได้ปีนี้จะเติบโต 8-10% เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หันมาใช้บริการผู้สอบบัญชีมากขึ้น สะท้อนจากสัดส่วนกลุ่มลูกค้าในประเทศเทศปัจจุบันเพิ่มเป็น 50% จากหลายปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 30-35%