(เพิ่มเติม) "สมคิด" เห็นชอบเป้าหมายส่งออกไทยปี 62 โต 8%/"สนธิรัตน์" แนะมองวิกฤติสงครามการค้าเป็นโอกาส

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 18, 2018 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เห็นชอบกับเป้าหมายการส่งออกในปี 2562 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ที่การขยายตัว 8% คิดเป็นมูลค่า 276,011 ล้านดอลลาร์ฯ โดยเป้าหมายส่งออกดังกล่าว มาจากการประชุมร่วมกันระหว่างนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) จาก 64 แห่งทั่วโลก

รองนายกรัฐมนตรี ขอให้ทุกฝ่ายร่วมผลักดันการส่งออกให้เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งภาครัฐ และเอกชนต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เพราะในปีหน้าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกไม่ดี มีเรื่องของสงครามการค้าเข้ามากระทบ และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์แล้วว่า ปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว และสงครามการค้าจะยืดเยื้อ

"ได้ขอให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ประเทศจีนทั้งหมด จัดทำรายการสินค้าใดที่มีโอกาสและมีผลกระทบ เพื่อผลักดันการส่งออก จะมองแค่จะขายข้าว ยางพารา ทุเรียนไม่ได้ ยังมีสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่ไทยมีโอกาสส่งออกเพิ่ม แต่ต้องทำแผนมา ส่วนตลาดสหรัฐฯ ได้ขอให้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเป็นโต้โผใหญ่ รวบรวมเอกชนรายใหญ่ของไทย 10 กว่าราย เข้าไปซื้อกิจการค้าปลีกหรือเอาท์เล็ต เพื่อเป็นที่ขายสินค้าไทย เพราะเมื่อสหรัฐฯ มีสงครามการค้ากับจีน ทำให้สินค้าจากจีนส่งเข้าไปสหรัฐฯไม่ได้ ไทยก็มีโอกาสที่จะส่งสินค้าไปทดแทน เรื่องเหล่านี้ขอให้เร่งดำเนินการ" นายสมคิดระบุ

สำหรับปัจจัยเสี่ยงในปีหน้าที่ต้องระวังคือ ค่าเงินผันผวน โดยค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้น และราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่สิ่งที่เป็นปัจจัยบวกยังคงมี คือความโดดเด่นของไทยในอาเซียน และการค้าชายแดน

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ในปี 61 มูลค่าส่งออกไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 8% แน่นอน ส่วนปี 62 เป้าหมาย 8% ถือเป็นเป้าหมายการทำงานที่ท้าทาย ที่จะต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก เพราะหากเฉลี่ยแต่ละเดือนจะต้องส่งออกให้ได้ประมาณ 24,500 ล้านเหรียญฯ ซึ่งถือสูงมาก แต่หากจะพลาดเป้าหมายก็ไม่ถือว่าเสียหน้า การทำงานจะเอาเรื่องเสียหน้ามาเกี่ยวข้องไม่ได้ แต่หากพลาดเป้าก็ขอให้มีเหตุผลรองรับ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญ คือผลกระทบของสงครามการค้าที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่กระทรวงพาณิชย์มีข้อสรุปทางบวกที่จะเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสส่งออกไทย โดยขอให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดทำแผนที่จะหาโอกาสสินค้าในกลุ่มที่ไทยจะได้ประโยชน์จากผลของสงครามการค้าส่งออกไปยังทั้งสหรัฐฯ และจีน รวมถึงเร่งรัดดึงกลุ่มสินค้าเหล่านั้นมาผลิตที่ไทยและส่งออกไปทั้ง 2 ตลาด เพื่อชดเชยสินค้าที่ส่งออกไปไม่ได้ของทั้ง 2 ประเทศ เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ ที่จีนส่งออกไปสหรัฐไม่ได้ ก็ให้ดึงมาผลิตที่ไทยและส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นต้น รวมถึงมองหาโอกาสในสินค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่จะส่งออกไปทดแทน เช่น สินค้าเกษตร

"แผนในการรับมือสงครามการค้า ต้องไปดูว่าสินค้าที่ทั้ง 2 ประเทศได้รับผลกระทบระหว่างกันและส่งไปไม่ได้ ให้ดึงมาไทยผลิต และไทยส่งออกเอง เพื่อทดแทนสินค้าของทั้ง 2 ประเทศ ที่ส่งออกระหว่างกันไม่ได้ ส่วนเป้าหมาย 8% ในปีหน้าถ้าได้ตามนี้ถือว่าทำงานได้ดีมากแล้ว เพราะถ้ามองในแง่มูลค่าที่จะต้องส่งออกให้ได้เดือนละ 2.45 หมื่นล้านดอลลาร์ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงถือว่าเป็นการทำงานอย่างหนัก" นายสนธิรัตน์ กล่าว

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับความกังวลของภาคเอกชนในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ที่คาดว่าสหรัฐฯ จะประกาศใช้มาตรการเซฟการ์ดขึ้นภาษีสินค้ากับทั่วโลกในเดือนก.พ.62 นั้น ทางกรมฯ จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้วางเป้าหมายการส่งออกสำหรับในรายตลาดไว้ดังนี้ ตลาดสหรัฐอเมริกา ขยายตัว 6%, ตลาดสหภาพยุโรป ขยายตัว 3%, ตลาดตะวันออกกลาง ขยายตัว 3%, ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัว 8%, ตลาดเอเชียตะวันออก ขยายตัว 7%, ตลาดแอฟริกา ขยายตัว 10%, ตลาดจีนและฮ่องกง ขยายตัว 12%, ตลาดอาเซียน ขยายตัว 8% ตลาดออสเตรเลีย ขยายตัว 6% และตลาดรัสเซีย-CIS ขยายตัว 10%

ขณะการส่งออกในปี 61 นี้ กระทรวงพาณิชย์เชื่อว่าจะเป็นไปได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 8% คิดเป็นมูลค่า 2.55 แสนล้านดอลลาร์ โดยล่าสุด การส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.61) ขยายตัวได้แล้ว 10% คิดเป็นมูลค่า 1.69 แสนล้านดอลลาร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ