นายกฯ หารือกับผู้นำจากยุโรปและเอเชีย สร้างความเชื่อมั่นพัฒนาการทางศก.-การเมืองของไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday October 20, 2018 09:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พบหารือทวิภาคีกับผู้นำจากเบลเยี่ยม เกาหลีใต้ สมาพันธรัฐสวิส สาธารณรัฐเช็ก ในระหว่างการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 12 ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม โดยนายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสนี้สร้างความเชื่อมั่นต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเมืองของไทยที่จะมีการเลือกตั้งในต้นปีหน้า การเป็นประธานอาเซียนของไทยในปี 2562 ที่ต้องการความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือและการพัฒนาภูมิภาค รวมทั้งการเชิญชวนเข้าเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาในกรอบความร่วมมือกลุ่มประเทศในลุ่มแม่น้ำอิระวะดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ส่วนประเด็นทวิภาคีได้มีการหารือดังนี้

การหารือกับนายชาร์ลส์ มิเชล นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม ได้เห็นพ้องที่จะเพิ่ม พลวัตความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือทาง เศรษฐกิจระหว่างกัน ภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0 และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในสาขาที่เบลเยียมมีความเชี่ยวชาญ และผลักดันให้รื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป โดยเริ่มจากการเจรจาเทคนิคในโอกาสแรก โดยไม่ต้องรอหลังเลือกตั้ง นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้มีความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ที่เป็น รูปธรรมมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้มีความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้นด้วย

การหารือกับนายมุน แช-อิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) โดยนายกรัฐมนตรียินดีกับนโยบาย New Southern Policy (NSP) ซึ่งจะเป็นโอกาสที่จะกระชับความเป็นหุ้นส่วนทาง ยุทธศาสตร์ระหว่างกันด้วย ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนหลายครั้งในปีนี้ และขอเชิญปธน. มุน แช-อิน เยือนไทยในปีหน้า ทั้งนี้ ไทยและเกาหลีใต้มีความร่วมมือด้านการทหาร (การจัดซื้อ ยุทโธปกรณ์ทางทหารและการฝึกร่วม Cobra Gold) และเห็นควรสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างกัน เพิ่มขึ้น โดยอาจพิจารณารื้อฟื้น JTC (Joint Trade Commission) และ KOTCOM ให้เกิดขึ้นปีหน้า ในโอกาสนี้ผู้นำทั้งสองเห็นว่า

นโยบาย New Southern Policy สามารถเชื่อมโยง กับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะโครงการ EEC และกรอบ ACMECS ได้อย่างดี พร้อมทั้ง เชิญชวนเกาหลีใต้ร่วมลงทุนในโครงการโครงสร้าง พื้นฐานต่าง ๆ ทั้งด้านคมนาคมขนส่ง รวมทั้งโครงการ ต่าง ๆ ใน EEC เน้นย้าสาขาความร่วมมือที่เกาหลีใต้สนใจ 4 สาขา คือ 1. โครงสร้างพื้นฐาน/การคมนาคมขนส่ง 2. การบริหารจัดการน้ำ 3. เทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสาร/เมืองอัจฉริยะ และ 4.พลังงานในประเด็นภูมิภาค นายกรัฐมนตรียินดีกับผลสำเร็จจากการประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลี (Inter-Korean Summit) ที่กรุงเปียงยาง และชื่นชมและสนับสนุนต่อความพยายามทางการทูตของ ประธานาธิบดีมุนฯ เพื่อหาทางออกอย่างสันติ ทั้งนี้ ในฐานะประธานอาเซียนในปีหน้า ไทยพร้อมสนับสนุนเกาหลีใต้ในการดำเนินนโยบายเพื่อสร้างสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี

ส่วนการหารือกับนายจูเซปเป กอนเต นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอิตาลี ทั้งสองฝ่ายจะขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่การค้าและการลงทุนไทย-อิตาลีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและยังมีลู่ทางที่จะขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันได้อีกมาก ซึ่งการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันจะเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และจะนำไปสู่การเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรปต่อไป ทั้งนี้ อิตาลียังให้ความสนใจการลงทุนในพื้นที่ EEC ในสาขาการพัฒนาและบริหารโครงสร้างพื้นฐานสนใจ โครงการรถไฟความเร็วสูง นอกจากนี้ จะสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนระหว่างกันมากขึ้น เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มพูนการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยไทยชื่นชมบทบาทของอิตาลีในการผลักดันการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-อิตาลีระหว่างภาคธุรกิจชั้นนำของทั้งสองประเทศ เพื่อเป็นช่องทางในการสร้างเครือข่ายและส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

การหารือกับนายอาแล็ง แบร์เซ ประธานาธิบดีแห่งสมำพันธรัฐสวิส โดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณที่ฝ่ายสวิสดำเนินแนวทางตามสหภาพยุโรปในการฟื้นฟู การมีปฏิสัมพันธ์กับไทย และพร้อมร่วมมือกับสวิสในลักษณะไตรภาคีในการให้ความช่วยเหลือ ด้านการศึกษากับประเทศ CLMV ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและ ลดต้นเหตุความขัดแย้ง ทั้งสองเห็นพ้องขยายความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการศึกษา ซึ่งไทยชื่นชมศักยภาพและองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และการศึกษาของสมาพันธรัฐสวิส และพร้อมมีความร่วมมือกับฝ่ายสวิสในด้านดังกล่าวเพื่อช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ ประเทศไทย 20 ปี และนโยบายประเทศไทย 4.0

การหารือกับนายอันเดรย์ บาบิช นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็ก เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีในด้านต่าง ๆ ส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว 2 ฝ่าย โดยผลักดัน การเปิดเส้นทางบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ-กรุงปราก ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนภาคเอกชนเช็กมาลงทุนใน EEC เพิ่มเติม (มีบริษัท Workpress Aviation ผู้ผลิตชิ้นส่วนภายในเครื่องบิน เข้ามาลงทุนใน EEC เป็นรายแรกแล้ว) โดยเฉพาะในสาขาที่เช็กมีความเชี่ยวชาญ ได้แก่ อุตสาหกรรม ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ นาโนเทคโนโลยี อุตสาหกรรมเครื่องจักร ด้านการเกษตร ยุทโธปกรณ์ด้านอากาศยาน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการแพทย์แบบครบวงจร

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังพบปะพูดคุยกับผู้นำที่เข้าร่วมการประชุม เช่น อังกฤษ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและการดำเนินการของไทยในการพัฒนาประเทศสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน พร้อมใช้โอกาสนี้ติดตามความร่วมมือต่างๆที่มีต่อกันให้เกิดผลรูปธรรมและต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ