นางวจีทิพย์ พงษ์เพ็ชร ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่เปิดรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงเกณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งมีผู้ให้ข้อเสนอแนะเข้ามาจำนวนมาก ทั้งจากประชาชนผู้บริโภค สถาบันการเงิน และผู้ประกอบการ โดย ธปท. ขอขอบคุณทุกความเห็น
สำหรับความเห็นที่ได้รับครอบคลุมหลายประเด็น อาทิ วันที่เริ่มบังคับใช้ ความหมายของบ้านหลังที่ 2 หรือสัญญาที่ 2 อัตราการวางเงินดาวน์ของสัญญาที่ 2 หรือสัญญาที่ 3 เป็นต้น ซึ่ง ธปท. จะนำข้อเสนอแนะมาประกอบการพิจารณา ก่อนจะกำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงต้นเดือน พ.ย. 2561
นอกจากนี้ มีคำถามและหลายประเด็นที่อาจเข้าใจคลาดเคลื่อน ที่อยากจะถือโอกาสอธิบายดังนี้
สถานการณ์ในปัจจุบันน่ากังวลแค่ไหน เหมือนปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้งหรือไม่? โดยขอย้ำว่าสถานการณ์ปัจจุบันต่างจากช่วงปี 2540 มาตรการที่จะปรับปรุงเป็น "มาตรการในเชิงป้องกัน" (Preventive Measures) คล้ายกับ เราเริ่มเห็นควัน ก็ต้องป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้
นางวจีทรัพย์ กล่าวว่า มาตรการนี้มุ่งยกระดับมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินซึ่งที่ผ่านมาหย่อนลงไปบ้าง และมุ่งเน้นการสร้างวินัยให้มีการออมบางส่วนก่อนกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย รวมทั้งป้องกันการเก็งกำไร โดย "การลด demand เทียม" ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนที่ต้องการซื้อที่อยู่เพื่ออาศัยอยู่จริง สามารถซื้อบ้านในราคาที่เหมาะสม อีกทั้งประสบการณ์ที่ผ่านมาชี้ว่าปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์มักเป็นต้นตอทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ (งานวิจัยของ IMF ชี้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจกว่า 50 ครั้ง ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เช่น วิกฤต Subprime เกิดจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์) มาตรการในครั้งนี้จึงมุ่งป้องกันปัญหาในอนาคต
ทั้งนี้ ขอทำความเข้าใจกับหลายประเด็นที่ประชาชนอาจจะยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน
(1) จะใช้บังคับเฉพาะกรณีการผ่อนที่อยู่อาศัย 2 หลังขึ้นไปพร้อมๆ กัน และจะไม่กระทบกรณีที่ผ่อนหลังที่ 1 เสร็จแล้ว และจะกู้เงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 (กรณีนี้จะนับเป็นสัญญาที่ 1)
(2) การปรับปรุงหลักเกณฑ์ในครั้งนี้จะไม่กระทบการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยที่ซื้อบ้านหลังแรก (ใช้บังคับเฉพาะที่อยู่อาศัยที่ราคาเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป)
(3) จะไม่กระทบผู้ที่กู้ก่อนเกณฑ์ใหม่มีผลบังคับใช้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือจะไม่มีผลย้อนหลังสำหรับผู้ที่กู้ไปแล้ว