กรมทางหลวง ลงทุนมอเตอร์เวย์กว่า 2.5 แสนลบ.ใน 4-5 ปี ช่วยลดความแออัดการจราจรพื้นที่ชั้นใน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 24, 2018 18:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวในงานสัมมนา"ผังเมืองใหม่-เมกะโปรเจ็กต์ : พลิกโฉม กทม."ว่า กรมทางหลวงวางแผนแนวทางการพัฒนโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ระยะ 20 ปี (ปี 60-79) มี 21 สายทาง ระยะทาง 6,612 กม. โดยในช่วงปี 61-65 จะเกิดการพัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์บริเวณโซนทิศเหนือและทิศตะวันตกของพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สอดคล้องกับทิศทางการขยายตัวของเมือง

ทั้งนี้ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ และปริมณฑล และเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรของการเดินทางภายในพื้นที่ เพื่อความสะดวกรวดเร็วของการเดินทางและขนส่งสินค้าเชื่อมต่อกับพื้นที่ภายนอกไปยังภูมิภาคต่างๆ และรองรับการจราจรวิ่งผ่านพื้นที่ ลดความแออัดเขตเมืองงชั้นใน

"ใน 20 ปี ในกทม.มี 12-13 โครงการ โครงข่ายมอเตอร์เวย์จะไปทางทิศเหนือ และบริเวณโซนนครปฐมมากสุด การขยายภาคตะวันออกมีการขยายตัวมากแล้ว จะเปลี่ยนไปทางทิศตะวันตก โครงข่ายมอเตอร์เวย์ในช่วง 4-5 ปีข้างหน้าที่จะเกิดในกทม.ก่อน จะช่วยเคลื่อนย้ายออกจากตัวเมืองมากที่สุด ขนส่งคนและสินค้าไปแหล่งอุตสาหกรรม ลดความแออัดของเมือง ลดการเดินทางผ่านเมือง ไม่ต้องแวะเข้าเมือง" อธิบดีกรมทางหลวงกล่าว

ทั้งนี้ ในช่วง 4-5 ปี มี 5 โครงการ รวมวงเงินลงทุนประมาณ 254,706 ล้านบาท โครงการแรกที่ดำเนินการ ได้แก่ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 25 กม. วงเงินลงทุน 30,800 ล้านบาท โดยกรมทางหลวงลงทุนเอง 10 กม.แรก ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย วงเงิน 10,500 ล้านบาท จะออก TOR เชิญชวนประกวดราคาในปลายปีนี้ เส้นนี้แบ่งเป็น 3 สัญญา สัญญาแรก 4 พันล้านบาท สัญญาที่ 2 วงเงิน 4 พันล้านบาท และสัญญาที่ 3 วงเงิน 2.5 พันล้านบาท คาดจะได้ผู้ชนะและเริ่มก่อสร้างในไตรมาส 1/62

ส่วนอีก 15 กม. อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบเอกชนร่วมลงทุน (PPP) โดยให้เอกชนลงทุนงานโยธา ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว รวมงานระบบและ O&M ทั้งโครงการ และจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคม ในไตรมาส 1/62

นอกจากนี้ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กม. วงเงินลงทุน 79,006 ล้านบาท ซึ่งกรมทางหลวงได้เสนอบอร์ด PPP แล้ว รอเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติรูปแบบ PPP Net Cost และคาดเริ่มสร้างได้ปลายปี 63

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 18 กม. วงเงินลงทุน 29,400 ล้านบาท โดยคาดจะสรุปรูปแบบ PPP นำเสนอต่อบอร์ด PPP ในไตรมาส 3/62 และเริ่มก่อสร้างปี 64

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายวงแหวนรอบนอก กทม.ด้านตะวันตก ระยะทาง 70 กม. วงเงินลงทุน 78,000 ล้านบาท คาดก่อสร้างได้ในปี 65

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ เป็นการรองรับการเดินทางเข้าออกสนามบินสุวรรณภูมิ และเดินทางเชื่อมต่อกรุงเทพมหานครกับพื้นที่ภาคตะวันออก ระยะทาง 18 กม. วงเงินลงทุน 37,500 ล้านบาท สถานะอยู่ระหว่างทำการศึกษาEIA คาดเริ่มก่อสร้าง ปี 65

นายอานนท์ กล่าวอีกว่า ส่วนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ช่วงบางปะอิน-นครราชสีมา ความก้าวหน้างานโยธาได้ 60-70% และคาดว่าภายในปีนี้น่าจะเปิดให้เอกชนร่วมประมูลงาน O&M ได้ ขณะที่โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ช่วงบางใหญ่-กาญจนบุรี งานก่อสร้างล่าช้ากว่าแผน โดยปัจจุบันงานก้าวหน้ากว่า 20% ซึ่งมีปัญหาการเวนคืนที่ดินล่าช้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ