น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาพรวมรายได้ของเกษตรกร วัดจากดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนกันยายน 2561 ลดลง 4.04% จากเดือนกันยายน 2560 โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาเดือนกันยายน 2561 ลดลง 6% จากเดือนกันยายน 2560
สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีสต๊อกน้ำมันปาล์มคงเหลือเป็นจำนวนมาก ประกอบกับความต้องการใช้บริโภคและอุตสาหกรรมลดลงอย่างต่อเนื่อง ลองกอง เงาะ ราคาลดลงเนื่องจากเป็นผลผลิตจากภาคใต้ ซึ่งอยู่ในช่วงที่ผลผลิตออกมากส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดกระจุกตัว ไก่เนื้อ ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตยังคงออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับการบริโภคชะลอตัว
สินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานแป้งมัน และลานมันสำปะหลัง ลำไย ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลงเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอความต้องการ และ สุกร ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงประกอบกับผลผลิตเนื้อสุกรลดลงจากนโนบายควบคุมการผลิตเนื้อสุกรที่เริ่มได้ผล
ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนกันยายน 2561 เพิ่มขึ้น 2.08% จากเดือนกันยายน 2560 สินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ลองกอง ปาล์มน้ำมัน ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ส่วนสินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตลดลง ได้แก่ สับปะรด มันสำปะหลัง สุกร และ กุ้งขาวแวนนาไม
หากมองแนวโน้มดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนตุลาคม 2561 คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.19% จากเดือนตุลาคม 2560 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.78% โดยสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ยางพารา เงาะ ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว และไก่เนื้อ ในขณะที่ดัชนีราคาปรับตัวลดลง 1.56% ส่วนสินค้าสำคัญที่มีราคาลดลง ได้แก่ อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว สุกร ไก่เนื้อ และ กุ้งขาวแวนนาไม
ด้านสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตออกมากในช่วงเดือนตุลาคม 2561 ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากเป็นช่วงเดือนที่เก็บเกี่ยวผลผลิตมาก ส่งผลให้ผลผลิตยังคงออกสู่ตลาดมากอย่างต่อเนื่อง และยางพารา เนื่องจากผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากตามฤดูกาลเก็บเกี่ยว
อย่างไรก็ตาม เดือนพฤศจิกายน 2561 ดัชนีรายได้เกษตรกร คาดว่าอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว เนื่องจากดัชนีราคาคาดว่าจะทรงตัวต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2560 ในขณะที่ดัชนีผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอาทิ ข้าวเปลือกเจ้า ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และไข่ไก่