พาณิชย์ จัดงาน"แฟรนไชส์สร้างอาชีพ" เดินสายจ.สงขลา-สุรินทร์ กระตุ้นศก.ฐานราก คาดเงินสะพัดกว่า 5 ลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 25, 2018 10:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 25 - 28 ตุลาคม 2561 กรมฯ ได้จัดงาน "แฟรนไชส์สร้างอาชีพ" ที่จังหวัดสงขลา และจังหวัดสุรินทร์ขึ้นพร้อมกัน โดยจะนำธุรกิจแฟรนไชส์ที่ใช้เงินลงทุนไม่สูง จำนวนกว่า 100 แบรนด์ ให้คนในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัด ได้เลือกซื้อนำไปประกอบเป็นอาชีพ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก และสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนในท้องถิ่นได้มากกว่า 200 ราย มีเงินสะพัดกว่า 5 ล้านบาท

สำหรับเงินลงทุนในการเลือกซื้อแฟรนไชส์โครงการฯ นี้ เริ่มต้นตั้งแต่ 4,990 บาท เป็นต้นไป ทำให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือผู้ที่สนใจลงทุนในระบบแฟรนไชส์แต่มีเงินไม่มาก ก็สามารถเลือกลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการได้ ขณะเดียวกัน กรมฯ ได้ประสานงานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสินร่วมให้สินเชื่อแก่ผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯ ด้วย โดยจะคิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราพิเศษ

นอกจากนี้ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่สนใจเลือกแฟรนไชส์ไปประกอบอาชีพแล้ว แต่ยังไม่มีทำเลหรือสถานที่ขายสินค้า กรมฯ ได้ประสานงานกับปั้มน้ำมันบางจาก เทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี ในการจัดหาพื้นที่ขายสินค้าให้และคิดค่าเช่าในอัตราพิเศษ โดยมีรายละเอียด ดังนี้ - ปั๊มน้ำมันบางจาก ฟรีค่าเช่า 1 เดือนสำหรับกรุงเทพฯ ปริมณฑล และ จ.ชลบุรี สำหรับต่างจังหวัด ยกเว้นค่าเช่า 3 เดือน - เทสโก้ โลตัส ฟรีค่าเช่า 2 เดือน และในเดือนที่ 3 คิดอัตราค่าเช่าให้ส่วนลด 40% - บิ๊กซี ฟรีค่าเช่า 2 เดือนแรก เดือนที่ 3-4 คิดค่าเช่าในอัตรา 50 % เดือนที่ 5-6 คิดค่าเช่าในอัตรา 75%

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้นำธุรกิจแฟรนไชส์ มาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการไทยนิยม ยั่งยืน เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน โดยได้ดำเนินการจัดงาน "แฟรนไชส์สร้างอาชีพ" มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้ว่างงาน และผู้ที่ต้องการมีธุรกิจเป็นของตนเอง รวมถึง เป็นการช่วยลดการพึ่งพาสวัสดิการของภาครัฐในอนาคต

โดยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 กรมฯ ได้นำธุรกิจแฟรนไชส์จำนวน 100 แบรนด์ ลงพื้นที่ในส่วนภูมิภาคแล้ว 13 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ลำปาง อุดรธานี เชียงราย นครศรีธรรมราช กำแพงเพชร พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก ขอนแก่น ร้อยเอ็ด นครปฐม กาญจนบุรี และอุบลราชธานี โดยแฟรนไชส์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ ประเภทอาหารและเครื่องดื่ม (90%) เนื่องจากเป็นธุรกิจที่สามารถบริหารจัดการและจำหน่ายได้ง่าย รองลงมา คือ ธุรกิจเกี่ยวกับความงาม และบริการ ซึ่งจากการนำธุรกิจแฟรนไชส์ลงพื้นที่ทั้ง 13 จังหวัด สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้แล้วกว่า 50 ล้านบาท คาดว่าเมื่อจบทั้งโครงการ (20 จังหวัด) จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

"โครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพที่จัดขึ้นนี้ จะช่วยให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ว่างงานมีอาชีพเป็นของตนเอง สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคง และเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน" อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ