นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ในวันที่ 30 ต.ค.นี้ พิจารณา 5 โครงการ ได้แก่ โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มีโครงการท่าเรือ F มูลค่า 8.4 หมื่นล้านบาทและโครงการท่าเรือ E รวมทั้งหมดมูลค่า 1.14 แสนล้านบาท, โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (TG MRO Campus)ในท่าอากาศยานอู่ตะเภาซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบมจ.การบินไทยและแอร์บัส มูลค่าราว 1.05 หมื่นล้านบาท และโครงการมอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กม. วงเงิน 7.9 หมื่นล้านบาท รวมทั้งศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม และศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้า เชียงของ จ.เชียงราย
สำหรับค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน โครงการมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี 19,637 ล้านบาท ต้องขอขยายงบประมาณเพิ่มเติมอีก 14,217 ล้านบาท จากวงเงินเดิมที่ได้รับ 5,420 ล้านบาทนั้น กรมทางหลวง (ทล.) กำลังทบทวนตัวเลข เพื่ออธิบายและพิสูจน์ว่า ค่าเวนคืนเพิ่มมาจากปัจจัยอะไร เพราะมีค่าเวนคืนเปรียบเทียบของสายบางปะอิน-นครราชสีมา ที่มีความแตกต่างกัน
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กำลังทบทวน โครงการในแผนปฎิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2561 (Action Plan 2561) และประเมินโครงการใน Action Planปี 2559-2560 มาประกอบด้วยเพื่อให้เห็นภาพรวมของความก้าวหน้า และโครงการที่ยังติดขัด มีสาเหตุอะไร ก่อนที่จะทำแผน Action Planปี 2562 ให้เสร็จในเดือนพ.ย.นี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และมีความเป็นไปได้ โดยเฉพาะกรณีที่ติดปัญหาด้านการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA)
ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวหลังมอบนโยบายหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจในสังกัดคมนาคมว่า ในการจัดทำโครงการ และการเสนอของบประมาณประจำปี ให้ยึดยุทธศาสตร์พัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (2560 – 2579) ทั้งนี้ได้ขอให้ทุกหน่วยงานขับเคลื่อนงานในงบประมาณปี 2562 ให้สามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมาย โดยให้นำบทเรียนของปีงบประมาณ 2561 ที่การเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมาย
พร้อมกันนี้ จะต้องเริ่มจัดทำงบปี 2563 ซึ่งจะเน้นเรื่อง สมาร์ท ทรานสปอร์ต , ความปลอดภัย, เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม,มีประสิทธิภาพ ,การเข้าถึงของคนทุกกลุ่ม โดยต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ให้มากขึ้นกับงานด้านคมนาคม เป็นการวาง mindset ใหม่
ทั้งนี้ โครงการและภารกิจของกระทรวงคมนาคม มีมากมาย ดังนั้นการทำงานต้องถูกต้องตามระเบียบ ข้อกฎหมาย ซึ่งหลายโครงการมีความเร่งด่วนที่สนับนุนนโยบาย EEC และเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งจะต้องสนองนโยบายในการขับเคลื่อนในเชิงพื้นที่ การทำงานจะต้องบูรณาการร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลได้ตามเป้าหมายและรวดเร็ว
"มีข้อสั่งการรมว.คมนาคม ทุกหน่วยงานต้องใส่ใจเรื่องที่กระทบกับประชาชน เช่น ปัญหาจราจรจากการก่อสร้างรถไฟฟ้า ต้องบริหารจัดจราจร หาระบบขนส่งสาธารณะพิเศษมาเสริม รวมถึงข้อร้องเรียนถนนชำรุด หรือเป็นถนนของท้องถิ่น ทางหน่วยงานกระทรวงคมนาคมต้องเข้าไปช่วยเหลือ ส่วนข้อร้องเรียนต่างๆ ต้องรับฟังและตอบสนองแก้ไขให้ไว ยอมรับว่า งานและข้อมูลของคมนาคมมีมาก ทุกหน่วยต้องช่วยกัน ผมเคยเป็นผอ.สนข.เป็นคนทำแผน จากนี้จะมาขับเคลื่อนแผนให้สำเร็จ ซึ่งเวลา 2 ปี ค่อนข้างน้อย คือ งานมาก ยากขึ้น เวลาน้อย ความคาดหวังสูง ดังนั้นจะทำคนเดียวไม่ได้ ต้องเป็นทีมเป็น One Transport"ปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าว