นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญกฏหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ ในฐานะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวในงานราชดำเนินเสวนา หัวข้อ "อันตรายกฎหมายไซเบอร์"ว่า พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ... (พ.ร.บ.ไซเบอร์) มีความน่าเป็นห่วงใน 5 ประเด็น คือ 1.การดูแลภัยคุกคามการให้ความสำคัญกับการป้องกันเครือข่าย แต่เมื่อมาเป็นภาษาไทยเหมือนจะให้ความสำคัญกับเนื้อหามากกว่า โดยกำหนดอำนาจของสำนักงานฯ มีอำนาจจัดการกับภัยคุกคามที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ให้อำนาจกับเลขาธิการมากจนไม่มีการถ่วงดุล โดยมีอำนาจในการเรียกดูข้อมูลที่สงสัยว่าจะขัดต่อความมั่นคง
2. การเรียกดูข้อมูลไม่เปิดช่องให้ผู้ที่ถูกเรียกดูข้อมูลอุทธรณ์ได้ ความกังวลในการเรียกดูข้อมูล ทำให้มีความเป็นห่วงข้อมูลส่วนบุคคล และเมื่อเรียกดูข้อมูลแล้วหากไม่ให้ความร่วมมือจะถือว่าเป็นความผิดและมีบทลงโทษ
3. ร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ ยังเขียนว่าหากมีเหตุอันควรสงสัย เลขาธิการมีอำนาจเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศ สามารถสกัดคัดกรองข้อมูลได้ ยึดอุปกรณ์และเข้าถึงข้อมูลที่ต้องสงสัยได้ทันที ถ้ากฏหมายแบบนี้ออกมา ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียรายใหญ่อาจจะเกิดความกังวลการเข้าถึงข้อมูลของบริษัท
4. ร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ ได้เปิดช่องให้สำนักงานฯ มีความร่วมมือกับเอกชนในการทำธุรกิจ ทำให้เอกชนห่วงว่าสำนักงานฯ จะไปแข่งขันเอกชนเสียเอง
5. อำนาจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (เอตด้า) มีพันธกิจในการส่งเสริมอีคอมเมิร์ซ ขณะที่เอตด้ายังรักษาการณ์กฏหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และกฏหมายการยืนยันตัวตนดิจิทัล ทำให้เกิดคำถามว่าโครงสร้างของเอตด้าจะรองรับงานได้ทั้งหมดหรือไม่ ควรจะแยกความรับผิดชอบไปที่หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญหรือไม่ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่หน่วยงานจะทำงานบนบิ๊กดาต้าที่ใหญ่มาก และต้องรับผิดงานหลายด้าน
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า กรรมการเตรียมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จะร่วมประชุมกับ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเสนอความเห็นและความเป็นห่วงร่างกฏหมาย จากนั้นจะทำร่างคู่ขนานที่เป็นของประชาชน โดยรวบรวมความเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอกระทรวงดีอี ผ่านไปถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยร่างคู่ขนานมุ่งให้กฏหมายนี้ดีขึ้น
นายเจษฎา ศิวรักษ์ หัวหน้ากลุ่มวิชาการ คณะทำงานความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฯ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ในต่างประเทศหน่วยงานดูแลความมั่นคงไซเบอร์ไม่นิยมการตั้งหน่วยงานใหม่ เพราะจะทำให้เกิดขั้นตอนในการจัดการปัญหาหาเกินความจำเป็น ถ้าจะมีหน่วยงานใหม่ รัฐควรพิจารณาให้ดี ปัญหารับมือภัยคุกคามระบบสารสนเทศที่สำคัญ เป็นปัญหาที่เอกชนต้องเจอทุกวันและมีขั้นตอนรับมืออยู่แล้ว สิ่งที่เอกชนเป็นห่วงการตั้งหน่วยงานใหม่ คือ การออกกติกาแปลกๆ ออกมาแล้วไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพและทำให้สมดุลของการดูแลความมั่นคงไซเบอร์เสียไป
นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือเอตด้า กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ไซเบอร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นมาตรการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงเมื่อเกิดภัยคุกคาม โดยมีคณะกรรมการระดับชาติเป็นผู้กำหนดกติกา เพื่อให้รัฐและเอกชนทำงานร่วมกันได้ มีสำนักงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกและแจ้งเหตุเมื่อเกิดภัยคุกคาม
ทั้งนี้ การจัดร่างกฎหมายดังกล่าวได้นำต้นแบบจากกฏหมายไซเบอร์ของประเทศสิงคโปร์มาปรับใช้ เมื่อจัดทำร่างกฎหมายเสร็จแล้วจะได้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และนำมาเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
พร้อมกันนี้ได้แสดงความเห็นด้วยกับการใช้อำนาจของสำนักงานฯ ว่า ควรผ่านความเห็นชอบของศาล การทำร่างกฏหมายค่อนข้างเร่งรัดใช้เวลาเพียง 4 เดือนในการเขียนและนำมารับฟังความเห็น เชื่อว่าในการพิจารณาในชั้นต่อไป จะมีการแก้ไขถ้อยคำให้เหมาะสม
ส่วนประเด็นอำนาจในการรักษาการ เอตด้ายินดีดูแลหน้าที่สำนักงานความมั่นคงไซเบอร์เฉพาะช่วงแรกแล้วควรพ้นความรับผิดชอบไปอยู่ใต้กฏหมาย เอตด้าเชื่อว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จึงจะจัดตั้งสำนักงานฯ ได้ ส่วนความเป็นห่วงการใช้อำนาจขอข้อมูล มิได้แปลว่าสำนักงานฯ จะไปเอาข้อมูลของประชาชนโดยไม่มีเหตุผล ในส่วนนี้ควรจะเขียนเพิ่มให้ชัดเพื่อให้หมดความกังวล
อนึ่ง งานราชดำเนินเสวนา หัวข้อ "อันตรายกฏหมายไซเบอร์" จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และชมรมนักข่าวสารเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยได้เชิญตัวแทนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำมาสะท้อนความเห็นของการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ...