KTB แนะจับตาศก.จีนส่อชะลอจากสงครามการค้า เตือนผ้ประกอบการใน supply chain ติดตามภาวะตลาดใกล้ชิด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 26, 2018 12:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย (KTB) ประเมินจากรายงานตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนกันยายน 2561 ที่หดตัวลง 5.2% ต่ำสุดในรอบ 19 เดือน จากสาเหตุส่งออกไปจีนหดตัวแรงถึง 14.1% และประเทศกลุ่ม ASEAN-5 ชะลอลงมาก โดยเติบโตเพียง 0.9% นั้น

Krungthai Macro Research แนะให้จับตาตลาดส่งออกจีนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีสัญญาณชะลอตัวทางเศรษฐกิจจีนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ากับสหรัฐ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง เห็นได้จากตัวเลขสินค้าส่งออกของไทยไปจีนในเดือนกันยายน 2561 หดตัว ทั้งยานยนต์ ยางล้อ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งตลาดยานยนต์ของจีนชะลงตัวลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา คาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง

นายพชรพจน์ กล่าวต่อว่า ต้องจับตาสินค้าสินค้ากลุ่มยาง ผลิตภัณฑ์ยาง และยานยนต์ เนื่องจากสินค้ากลุ่มยางพารา มีสัดส่วนต่อการส่งออกไปจีนถึง 6.1% และยอดส่งออกหดตัวถึง 39.7% สำหรับผลิตภัณฑ์ยางหดตัว 33.9% ขณะที่การส่งออกยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบไป ASEAN-5 มีสัดส่วนถึง 13.6% ของยอดส่งออกไป ASEAN-5 ทั้งหมด ล่าสุดหดตัวที่ 12.8% หดตัวครั้งแรกในรอบ 9 เดือน ดังนั้นผู้ประกอบการที่อยู่ใน supply chain ของอุตสาหกรรมนี้ จึงควรติดตามภาวะตลาดอย่างใกล้ชิด

สำหรับสินค้านำเข้าของไทยในเดือนกันยายน 2561 เติบโต 9.9% ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่เติบโต 22.8% เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ส่งออกไปจีนจะหดตัวลง แต่สินค้าจีนยังไม่ทะลักเข้าไทยอย่างที่กังวล ไม่ว่าจะเป็นเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ หรือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากปัจจัยภายในประเทศของจีนเอง เช่น การลงทุนที่ลดลง สอดคล้องกับการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น และการขอสินเชื่อจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าลดลงอย่างมากในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องไม่ควรประมาท เพราะในเดือนม.ค.62 นี้ อัตรากำแพงภาษีที่สหรัฐฯ ตั้งกับสินค้าจีนจำนวนมากจะปรับเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 25% ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้สินค้าจีนออกมามากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ