นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่คณะกรรมการบริหารอนุสัญญาไซเตส มีมติให้ออกจากการจัดทำแผนปฏิบัติการงาช้าง (National Ivory Action Plan) ซึ่งกรมศุลกากร ในฐานะคณะอนุกรรมการด้านกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมายตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทย ซึ่งมี พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน เป็นประธาน ได้บูรณาการการทำงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผลให้ในระหว่างการดำเนินการแผนปฏิบัติการงาช้าง ปีงบประมาณ 2557-2561 มีผลการตรวจยึดงาช้าง จำนวน 43 คดี ปริมาณงาช้างของกลางมากกว่า 4.5 ตัน เป็นเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งให้คณะกรรมการบริหารอนุสัญญาไซเตสถอดประเทศไทยจากบัญชีดำงาช้างไซเตส เนื่องจากประสบความสำเร็จในการปราบปรามการลักลอบค้างาช้างที่นำเข้าจากแอฟริกา
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า เพื่อแสดงถึงความจริงใจและความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการลักลอบค้างาช้างทั้งในประเทศและในภูมิภาค กรมศุลกากรดำเนินการตามแผนปฏิบัติการงาช้าง ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพในการปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายด้วยการสืบสวนและหาข่าวการค้างาช้างผิดกฎหมายในพื้นที่เสี่ยง เช่น บริเวณชายแดน สนามบิน โดยใช้เครื่องมือและเทคนิคในการสนับสนุนการปฏิบัติงาน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการค้างาช้างผิดกฎหมาย มีการวิเคราะห์เส้นทางที่มีความเสี่ยงในการลักลอบขนส่งงาช้างผิดกฎหมายตามหลักบริหารความเสี่ยง และเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าจากประเทศที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะที่มาจากจากทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นผลให้กรมศุลกากรสามารถตรวจยึดงาช้างได้จำนวนมากตั้งแต่เริ่มดำเนินการตามแผนปฏิบัติการดังกล่าว และนอกจากงาช้างแล้ว ยังส่งผลถึงประสิทธิภาพในการตรวจยึดการลักลอบสัตว์ป่าประเภทอื่น ๆ ทั้งนอแรด ลิ่นและเกล็ดลิ่น เต่า ด้วย
โดยมีผลการตรวจยึด ดังนี้ ประเภท ปีงบประมาณ 2557-2561 มีทั้งสิ้น 244 คดี ดังนี้
1. งาช้าง 43 คดี จำนวนที่ยึดได้ 3,577 กิ่ง น้ำหนัก 76 กิโลกรัม
2. นอแรด 8 คดี จำนวนที่ยึดได้ 85 ชิ้น
3. เต่า 48 คดี จำนวนที่ยึดได้ 16,084 ตัว
4. ตัวลิ่น/เกล็ดลิ่น 22 คดี จำนวนที่ยึดได้ 805 ตัว น้ำหนัก 7,157 กิโลกรัม
5. สัตว์และซากสัตว์ประเภทอื่นๆ เช่น ตัวนาก, นก,ไข่นก เป็นต้น 123 คดี รวม 20,144 รายการ