นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน คาดว่าจะเริ่มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดค่าครองชีพให้กับกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้าง ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้ได้รับส่วนลดราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ 95 ในอัตรา 3 บาท/ลิตร ภายในกลางเดือน พ.ย. หลังล่าสุดได้เจรจากับ บมจ.ปตท. (PTT) เพื่อขอให้ช่วยอุดหนุนส่วนลดดังกล่าวไปก่อน ในระหว่างที่รอการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับแก้ไข ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาราว 3-6 เดือนหลังจากนี้
"ปตท.เป็นองค์กรที่ดีเยี่ยม มีจิตสาธารณะที่ดีสุดๆคนหนึ่ง พอปตท.รับทราบก็เป็นผู้เสนอตัวมาตั้งแต่ต้นว่าพร้อมจะร่วมโครงการ เราก็เลยเสนอว่าช่วงนี้ขอก่อนนะ 3 บาท ปตท.ก็บอกว่าอย่านานเกินไปนะ ก็คงประมาณ 3 เดือนไม่เกิน 6 เดือน คาดว่าพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงน่าจะแล้วเสร็จ ตอนนี้อยู่ในชั้นตอนของกรรมาธิการที่ต้องเปลี่ยนหลักการเล็กน้อย หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็จะเข้าไปอุดหนุน 2 บาทต่อลิตร ซึ่งโครงการนี้ก็เป็นไปตามความสมัครใจ"นายศิริ กล่าว
นายศิริ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นการขอความร่วมมือกับผู้ค้ามาตรา 7 ทุกราย ไม่ใช่เฉพาะ ปตท. แต่จะเป็นความสมัครใจของผู้ประกอบการที่จะมาช่วยบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้าง โดยล่าสุดกระทรวงพลังงานได้จัดทำข้อมูลของกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างทั่วประเทศที่ลงทะเบียนเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ มีทั้งหมด 1.9 แสนราย โดยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครราว 1 แสนราย โดยมีผู้ขับขี่ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 4 หมื่นราย ซึ่งกระทรวงกำลังตรวจสอบข้อมูลมากขึ้นว่ามีจำนวนเท่าใดที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อจัดแคมเปญในการได้รับการอุดหนุนตามโครงการดังกล่าว
เบื้องต้นประเมินว่าผู้ขับขี่เหล่านี้ใช้น้ำมันวันละ 5 ลิตร หรือราว 150 ลิตร/เดือน ซึ่งหากได้รับการชดเชยในอัตรา 3 บาท/ลิตร ก็จะทำให้ต้องใช้เงินอุดหนุนราว 450 บาท/เดือน/ราย ซึ่งตามแผนเงินอุดหนุนดังกล่าวจะมาจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในอัตรา 2 บาท/ลิตร และผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 ในอัตรา 1 บาท/ลิตร แต่เนื่องจากปัจจุบันกระทรวงอยู่ระหว่างการจัดทำร่างพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่จะมีการแก้ไขรอบสุดท้ายเพื่อให้มีมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นต่อค่าครองชีพ ซึ่งหากร่างกฎหมายผ่านก็สามารถนำเงินกองทุนน้ำมันฯมาใช้สำหรับโครงการนี้ได้เลย แต่ในระหว่างที่ร่างกฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้ ก็จะขอให้ผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 มาช่วยรับภาระในอัตราเต็มที่ 3 บาท/ลิตรไปก่อนเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ระหว่างรอร่างกฎหมายให้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรก่อน
ด้านนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ PTT กล่าวว่า ขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างหารืออย่างใกล้ชิดกับกระทรวงพลังงานถึงความช่วยเหลือแก่กลุ่มจักรยานยนต์รับจ้าง แต่การที่ปตท.จะให้ความช่วยเหลือด้วยการให้ส่วนลดราคาน้ำมัน 3 บาท/ลิตรในช่วงแรกนั้นยังไม่มีข้อสรุป เพราะต้องนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเห็นชอบก่อน อย่างไรก็ตาม ปตท.ก็ไม่ได้มีสถานีบริการน้ำมันในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลมากนักเมื่อเทียบกับผู้ค้าน้ำมันต่างชาติรายอื่น ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์รับจ้างส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล
"ตอนนี้ยังไม่มีการสรุปอย่างนั้น เราต้องดูเหตุผลเพราะอะไร ต้องผ่านบอร์ด ผมไม่สามารถตัดสินใจเรื่องนี้ได้ บอร์ดคือตัวแทนผู้ถือหุ้น ต้องดูผู้ถือหุ้นโอเคไหม ต้องผ่านบอร์ด และมีเหตุผลไหม"นายชาญศิลป์ กล่าว
นายชาญศิลป์ กล่าวอีกว่า สำหรับความสนใจเข้าร่วมโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) นั้น ปตท.ก็ได้เตรียมความพร้อมหากผู้ชนะประมูลเข้ามาชวนให้ร่วมลงทุนด้วย เพราะปตท.มีจุดแข็งในด้านการบริหารจัดการพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เป็นพื้นที่การลงทุนหลักของกลุ่มปตท. รวมถึงมีจุดแข็งด้านการบริหารระบบพลังงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อโครงการโครงการดังกล่าวด้วย
ส่วนกรณีที่ บมจ..โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ในกลุ่ม ปตท. ยังคงมีแผนที่จะเข้าซื้อกิจการบมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หลังจากที่ไม่ได้รับอนุมัติให้ GPSC เข้าซื้อกิจการ GLOW แต่หาก GPSC ไม่สามารถเข้าซื้อกิจการ GLOW ได้จริงตามแผน ก็ยังมีนโยบายที่จะขยายการลงทุนตามการเติบโตของกลุ่มปตท. และการขยายงานของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ที่คาดว่าจะทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอนาคต