(เพิ่มเติม) คมนาคม ยืนยันญี่ปุ่นเดินหน้าความร่วมมือรถไฟฟ้าความเร็วสูงกทม.-เชียงใหม่ แต่เสนอรวมการพัฒนาพื้นที่แนวเส้นทาง-รอบสถานี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 26, 2018 15:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดแถลงข่าวยืนยันว่าทางการญี่ปุ่นไม่ได้ยกเลิกแผนที่จะเข้าร่วมการดำเนินโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ หลังจากเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าญี่ปุ่นถอนตัวเพราะไม่คุ้มค่าการลงทุน

นายสราวุธ ชี้แจง ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายเดินหน้าตั้งคณะทำงานไทย-ญี่ปุ่นเพื่อเร่งศึกษาโครงการให้ได้ข้อสรุปอย่างรอบคอบ และเกิดความคุ้มค่าในการลงทุนเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศไทย

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือการพัฒนาระบบรางระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (MOC) เมื่อวันที่ 27 พ.ค.58 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนารถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โดยได้เริ่มทำการศึกษา ความเหมาะสมของโครงการระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ตั้งแต่เดือน ธ.ค.58 แล้วเสร็จในเดือน พ.ย.60

ปัจจุบัน กระทรวงคมนาคม และกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) อยู่ระหว่างการหารือเรื่องรูปแบบการลงทุนโครงการร่วมกัน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากมีรายละเอียดหลายประเด็นที่ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งในส่วนของงานก่อสร้างและงานวางระบบ รวมถึงงานจัดซื้อตัวรถและการซ่อมบำรุง

กระทรวงคมนาคม และ MLIT ได้มีการหารือร่วมกันครั้งล่าสุดในคราวประชุมระดับรัฐมนตรีด้านคมนาคม เมื่อวันที่ 19 ต.ค.61 โดยฝ่ายไทยยังยืนยันว่าฝ่ายญี่ปุ่นควรร่วมพิจารณาลงทุนกับฝ่ายไทย (Joint Investment) เนื่องจากผลการศึกษาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) สรุปว่า ต้องมีการพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทางและพื้นที่รอบสถานี (TOD) ร่วมด้วย จึงจะเกิดความคุ้มค่าในการลงทุน ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวต้องอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของญี่ปุ่น ดังนั้น การตัดสินใจลงทุนในโครงการนี้รัฐบาลไทยจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

อย่างไรก็ตาม ในการหารือล่าสุดฝ่ายไทยได้เสนอให้ฝ่ายญี่ปุ่นพิจารณาใช้รูปแบบการดำเนินงานในลักษณะเดียวกับการลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา (Texas High-Speed Railway Project) เมื่อปี 58 ที่ลงทุนผ่าน Japan Oversea Infrastructure Investment Corporation for Transport and Urban Development (JOIN) โดยมอบหมายให้คณะทำงานทั้ง 2 ฝ่าย (ไทย-ญี่ปุ่น)ร่วมกันศึกษาและหารือในรายละเอียดดังกล่าว เพื่อให้ได้ข้อสรุปเรื่องการร่วมลงทุนในโครงการนี้โดยเร็วต่อไป

"ญี่ปุ่นไม่ได้ตอบปฏิเสธ แต่เห็นว่าการเดินรถอย่างเดียวไม่คุ้มค่า ญี่ปุ่นสนใจจะพัฒนาพื้นที่สองข้างทางแนวรถไฟ ญี่ปุ่นยินดีที่จะสนับสนุนโครงการในรูปเงินกู้แบบพิเศษที่มีดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ โดยจากเดิมที่จะลงทุนร่วมกัน 50/50 แต่จากที่หารือ ญี่ปุ่นมีข้อจำกัด รูปแบบการลงทุนก็ต้องเจรจาต่อไป สัดส่วนการลงทุนปรับไป อาจจะเป็น 70/30 หรือ 80/20...ญี่ปุ่นยังไม่ได้ข้อสรุปจะร่วมลงทุนกับเรารูปแบบไหน"นายสราวุธ กล่าว

นายสราวุธกล่าวว่า คณะทำงานไทยได้นัดทูตญี่ปุ่นและ JICA หารือในสัปดาห์หน้า เพื่อดูรายละเอียดแนวทางการร่วมลงทุนกับไทยผ่าน JOIN เหมือนกรณีรถไฟความเร็วสูงเท็กซัส ว่าเป็นไปได้แค่ไหน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ