นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงฯ ทั้งกรมการค้าภายใน, กรมการค้าต่างประเทศ, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ทำแผนงานบริหารจัดการสินค้าเกษตร เพื่อผลักดันให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เหมาะสม ไม่มีปัญหาล้นตลาด เนื่องจากในช่วง 3 เดือนนับจากนี้ หรือตั้งแต่เดือนพ.ย.ต่อเนื่องถึงต้นปี 62 ผลผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดจะทยอยออกสู่ตลาด
โดยขณะนี้ กรมการค้าภายในอยู่ระหว่างการจัดทำรายการสินค้าเกษตรที่ผลผลิตกำลังจะออกสู่ตลาดภายใน 3 เดือนนับจากนี้, สินค้าที่คาดว่าผลผลิตล้นตลาด เพราะความต้องการในประเทศมีน้อย รวมถึงสินค้าที่กำลังมีปัญหาราคาตกต่ำในขณะนี้ เพื่อนำมาทำแผนบริหารจัดการ และเชื่อมโยงการตลาด ทั้งในประเทศ และส่งออก
"สินค้าเป้าหมาย เช่น มะพร้าว, ปาล์มน้ำมัน, ข้าว, มันสำปะหลัง, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสับปะรด เมื่อได้ตัวสินค้าแล้ว ก็ต้องมาดูอีกว่า ตัวใดกำลังจะมีปัญหา เช่น ล้นตลาด กรมการค้าภายในก็ต้องส่งสัญญาณไปที่กรมการค้าต่างประเทศ และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อทำแผนผลักดันการส่งออกและแปรรูป เช่น ปาล์มน้ำมัน ทราบว่าขณะนี้ยุโรปกำลังต้องการน้ำเข้าน้ำมันปาล์ม ทูตพาณิชย์ของไทยก็ต้องไปหาออร์เดอร์ หรือติดต่อให้มาซื้อจากไทย" รมว.พาณิชย์กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มสินค้า Dairy Products ทั้งนมและผลิตภัณฑ์ รวมถึงเนื้อและผลิตภัณฑ์ที่ไทยจะเปิดเสรีเต็มรูปแบบ โดยภาษีนำเข้าจะเป็น 0% และไม่มีโควตานำเข้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ ภายใน 2-3 ปีนี้ ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ต้องเร่งทำแผนเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมทั้งระบบ และต้องใช้โอกาสนี้ส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปยังอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ที่ยังมีความต้องการอีกมาก เพื่อทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าสินค้า Dairy Products ของอาเซียน
นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า กระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับโชห่วยทั่วประเทศที่มีกว่า 100,000 ราย ให้สามารถแข่งขันกับธุรกิจรายใหญ่ได้ โดยกระทรวงฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด พัฒนาช่องทางการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์แบบ B2B ผ่านแอปพลิเคชั่น เพื่อให้โชห่วยสามารถซื้อสินค้าได้บ่อยขึ้น ในปริมาณไม่มาก ในราคาต่ำกว่าการสั่งซื้อเอง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้กับโชห่วย และสามารถแข่งขันกับธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ได้ โดยตั้งเป้าจะมีโชห่วยจะเข้าร่วมโครงการนี้ประมาณ 100,000 ราย และน่าจะเปิดตัวโครงการนี้ได้ในเดือนพ.ย.นี้
"การดำเนินการทั้งหมดนี้ เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพิ่งมาทำตอนนี้ เพื่อเอาใจฐานรากในโค้งสุดท้าย และไม่ได้ทำเพื่อหวังฐานเสียงในการเลือกตั้ง มาตรการทั้งหมดนี้ มีอะไรที่เป็นการหาเสียงบ้าง ทุกอย่างทำตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง" รมว.พาณิชย์กล่าว