นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่าจากการประสานไปยังกรมประมง ได้รับข้อมูลว่า ปริมาณและมูลค่าการนำเข้าปลาหมึกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และการที่ราคาปลาหมึกตกต่ำ ก็เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงราคาตามกลไกของตลาดในบางช่วงเวลาเท่านั้น
อนึ่ง ในช่วง 9 เดือนปี 61 (ม.ค.-ก.ย.) ไทยนำเข้าปลาหมึกกระดอง และปลาหมึกกล้วยมีชีวิต จากทั่วโลก 5,499 กก. ลดลง 91.02% มูลค่า 490,000 บาท ลดลง 83.93% และนำเข้าจากเมียนมา 4,800 กก. ลดลง 86.57% มูลค่า 290,000 บาท ลดลง 86.19% ปลาหมึกกระดองและปลากล้วยสดหรือแช่เย็นจากทั่วโลก 13 ล้านกก. เพิ่มขึ้น 7.05% มูลค่า 397.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.20% นำเข้าจากเมียนมา 12.5 ล้านกก. เพิ่มขึ้น 8.50% มูลค่า 374.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.25% และปลาหมึกยักษ์หรือปลาหมึกสาย นำเข้าจากทั่วโลก 1.9 ล้านกก. เพิ่ม83.70% มูลค่า 61 ล้านบาท เพิ่ม 80.92% นำเข้าจากเมียนมา 1.3 ล้านกก. เพิ่ม 47.46% มูลค่า 34.91 ล้านบาท เพิ่ม 41.28%
สำหรับกรณีที่มีกลุ่มชาวประมงจังหวัดสมุทรสงคราม เรียกร้องให้รัฐบาลห้ามนำเข้าปลาหมึกจากเมียนมาเป็นการชั่วคราว เพื่อแก้ปัญหาราคาตกต่ำนั้น นายอดุลย์ กล่าวว่า ไม่สามารถใช้มาตรการห้ามนำเข้าได้ เพราะปลาหมึกไม่ได้เป็นสินค้าควบคุมการนำเข้าตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 และการห้ามนำเข้ายังผิดข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) และเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) เพราะไทยไม่สามารถใช้มาตรการโดยเลือกปฏิบัติกับประเทศใดประเทศหนึ่งได้
สำหรับแนวทางการแก้ไขนั้น นายอดุลย์ กล่าวว่า ควรจะใช้ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560 เช่น มาตรการด้านสุขอนามัย (เอสพีเอส) และมาตรฐานคุณภาพสัตว์น้ำ ซึ่งสามารถใช้ดูแลคุณภาพสินค้าที่นำเข้าได้