รมว.คมนาคม สั่งการ สนข.เป็นคนกลางจัดทำแผนทั้งมอเตอร์เวย์กับทางด่วนหลังพบมีหลายสายซ้อนกัน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 26, 2018 18:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุม การบูรณาการแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะ 20 ปี (ปี 60-79) ของกรมทางหลวง (ทล.) และแผนแม่บททางพิเศษ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ว่า ได้พิจารณาเบื้องต้นเพื่อไม่ให้สายทางมีความซ้ำซ้อน และเกิดโครงข่ายระบบถนนที่สมบูรณ์ และเพื่อให้การใช้เงินงบประมาณการลงทุนของภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ เบื้องต้นพบว่ายังมีสายทางของมอเตอร์เวย์และทางด่วนในแผนบางสายทาง ที่อาจจะทับซ้อนหรืออยู่ในแนวใกล้เคียงกัน ซึ่ง ได้มอบหมายสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้พิจารณากรอบการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ซึ่งหลักการโครงข่ายทางจะเป็น Intercity Motorway ส่วนกรอบการพัฒนาทางพิเศษ จะเป็นในเขตเมือง (Urban Areas) เพื่อแก้ปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งจะต้องพิจารณาความเป็นเมืองในรูปแบบระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ควบคู่กับการพยากรณ์ค่าความเป็นเมืองในอนาคต (ปี 2579)

ตามแผนแม่บท มอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวง(ทล.) มี 21 เส้นทาง วงเงินลงทุน 2.1 ล้านล้านบาท ส่วนโครงข่ายทางพิเศษของ กทพ. จำนวน 17 สายทาง ซึ่งยังอยู่ระหว่างศึกษา โดย กทพ.จะสรุปในอีก 6 เดือน ซึ่งนอกจากพิจารณาโครงข่ายมอเตอร์เวย์และทางด่วนแล้วให้ สนข.นำแผนการพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ ร่วมด้วย เพื่อไม่ให้ลงทุนมอเตอร์เวย์ และทางด่วนในแนวสายทางใกล้เคียง จนเกิดการแข่งขันกัน และส่งผลต่อนโยบายในการชิฟโหมดการขนส่งจากถนนสู่ราง ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย รวมไปถึงแผนการพัฒนาถนน 4 ช่องจราจร

"สนข.จะเป็นคนกลาง บูรณาการผังรวมทั้งหมด ทั้งมอเตอร์เวย์ ทางด่วน รถไฟทางคู่ ถนน 4 ช่องจราจร โดยเรื่องจำเป็นคือ แก้จราจร,สนับสนุนพื้นที่ EEC และปริมาณการจราจรระหว่างเมือง ซึ่งบางเส้นทาง อาจจะไม่จำเป็นต้องลงทุนในแผน 20 ปี โดยอาจจะชะลอออกไป เป็นช่วงปี 21-ปีที่ 30 เพื่อรอให้มีความต้องการที่เหมาะสม นอกจากนี้ แม้การลงทุนจะเน้น PPP และตั้งกองทุน แต่การเวนคืน ยังจะต้องใช้งบประมาณ หากปรับการลงทุนโครงการให้เหมาะสมตามความต้องการ จะประหยัดงบเวนคืนได้" รมว.คมนาคม กล่าว

ทั้งนี้ พบว่า ระบบทางด่วนที่ทับซ้อนกับโครงข่ายมอเตอร์เวย์ ของกรมทางหลวง อยู่ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง ประกอบด้วย โครงการทางด่วน สายฉลองรัช – นครนายก – สระบุรี (E5) ซ้ำซ้อนกับ มอเตอร์เวย์ สายกรุงเทพฯ – สระบุรี (M62) โครงการทางด่วนสายอุดรรัถยา – พระนครศรีอยุธยา (E6) ซ้ำซ้อนกับโครงการมอเตอร์เวย์ สายกรุงเทพฯ – บางปะหัน (M53) และโครงการทางด่วนสายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก – สมุทรสงคราม (E15) ซ้ำซ้อนกับโครงการมอเตอร์เวย์ สายกรุงเทพฯ – ปากท่อ (M82)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ