ม.หอการค้าฯ มองราคาน้ำมัน-การเมืองกดดันศก.ไทยครึ่งปีแรกยังฟื้นตัวยาก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 7, 2008 15:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองภาวะการลงทุนในประเทศช่วงครึ่งปีแรกยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากเผชิญปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นและความขัดแย้งทางการเมือง โดยแนะให้รัฐบาลใหม่เร่งกระตุ้นการลงทุน และชะลอการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
"การลงทุนในประเทศไทยจะยังไม่พื้นตัวในไตรมาสที่ 1-2 เนื่องจากปัญหาราคาน้ำมันและสถานการณ์ทางการเมืองยังเป็นปัจจัยเสี่ยง" นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์ฯ กล่าว
ราคาน้ำมันยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง มีสาเหตุจากความวุ่นวายของประเทศผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลาง และปากีสถาน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว
นายธนวรรธน์ คาดว่าราคาน้ำมันตลาดโลกในครึ่งปีแรกเฉลี่ยประมาณ 110-120 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ถือว่าไม่ได้เกินความคาดหมายและคาดว่าครึ่งปีหลังจะเฉลี่ยอยู่ที่ 80-90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้ทั้งปีราคาน้ำมันน่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่คงไม่ขึ้นไปถึง 200 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากมีการใช้พลังงานทดแทนและกลุ่มโอเปคคงมีการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น
สิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการ คือ เร่งเบิกจ่ายงบประมาณกระตุ้นให้เกิดการลงทุน เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 4.5-5% ภายใต้เงื่อนไขการเมืองต้องมีเสถียรภาพ ส่วนผู้ที่จะมารับตำแหน่ง รมว.คลัง นั้นคิดว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรคคงจะเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นใครเอกชนก็ยอมรับได้
นอกจากนั้น รัฐบาลใหม่ควรตรึงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ไว้ที่ 7% เท่าเดิมก่อน เนื่องจากเห็นว่าจะเป็นแรงกดดันต่อผู้บริโภคและหลังจากปีงบประมาณใหม่เดือน ต.ค.51 จึงน่าจะทยอยปรับขึ้นเป็น 8% และขยับเป็น 10 % ในปี 52 เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนมากเกินไป
ด้านนางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่า แม้จะมีการเลือกตั้งไปแล้วก็ยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจได้ ทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุนและการบริโภค เพราะว่าสถานการณ์ทางการเมืองถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่ต้องจับตามอง ทำให้ไม่มั่นใจว่าการบริโภคและการลงทุนจะฟื้นตัวได้ในไตรมาส 3-4/51 ได้ ซึ่งต้องรอดูนโยบายรัฐบาลและความสงบทางการเมืองหรือไม่ ทั้งนี้รัฐบาลควรต้องเร่งลงทุนโครงการเมกกะโปรเจ็คต์เพื่อเรียกความมั่นใจกลับคืนมา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ