นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยสถานการณ์การค้าระหว่างไทยกับประเทศอาเซียนในฐานะกลุ่มประเทศที่มีการจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ฉบับแรกของไทยตั้งแต่ปี 2536 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่าการค้ารวมระหว่างกันสูงถึง 85,127.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จำแนกเป็น การส่งออก 51,036.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.6% และนำเข้า 34,090.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.1% โดยอาเซียนยังครองตำแหน่งเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ด้วยสัดส่วนการค้ามากถึง 22.6% รองลงมาเป็นประเทศจีน 15.7% และญี่ปุ่น 11.8%
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า จากการติดตามการใช้สิทธิประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากรภายใต้ FTA ของอาเซียน (AFTA) ซึ่งอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ลดภาษีศุลกากรสินค้ากว่า 98-99% ของรายการสินค้าทั้งหมดเป็น 0% แล้ว โดย 6 ประเทศอาเซียนดั้งเดิม ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ลดเป็น 0% ตั้งแต่ปี 2553 ขณะที่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) ลดเป็น 0% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 พบว่า ในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) ของปี 2561 ไทยส่งออกสินค้าไปอาเซียนโดยใช้สิทธิภายใต้ AFTA มูลค่า 17,853.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 39.2% ของการส่งออกไทยไปโลก โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์และอุปกรณ์ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ สำหรับการนำเข้าสินค้าจากอาเซียนโดยใช้สิทธิภายใต้ AFTA มูลค่า 6,241 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 20.5% ของการนำเข้าจากตลาดโลก โดยมีสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่า ไทยใช้สิทธิ AFTA ส่งสินค้าออกไปและนำเข้ามาจากอาเซียนเพิ่มขึ้น โดยใช้สิทธิส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 17% และใช้สิทธินำเข้าเพิ่มขึ้น 11.6% อันเป็นผลสืบเนื่องจากที่ไทยส่งออกไปยัง CLMV เพิ่มขึ้นจากการลดภาษีศุลกากรในกรอบอาเซียนของ CLMV ประกอบกับสมาชิกอาเซียนได้พัฒนาระบบการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในวาระที่ไทยจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ ในปี 2562 ถือเป็นโอกาสที่จะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการที่มีศักยภาพของไทยต่อผู้บริโภคอาเซียน เพื่อขยายลู่ทางการค้า โดยเฉพาะในเมืองใหม่ๆ ของอาเซียนที่ผู้ส่งออกไทยยังไม่เคยเข้าไปทำตลาด ขณะเดียวกันไทยก็สามารถใช้เวทีการประชุมต่างๆ ของอาเซียนที่จะจัดขึ้นในไทย เพื่อแสวงหาความร่วมมือทางการค้าตลอดจนแสดงศักยภาพสินค้าและบริการของไทยสู่อาเซียนและชาวโลกด้วย