รมว.เกษตรฯ ร่วมประชุมองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ ติดตามการแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 29, 2018 09:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมประชุมระดับโลกด้านการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพและการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในสัตว์ ครั้งที่ 2 ขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ณ เมืองมาราเกซ ราชอาณาจักรโมร็อกโก ร่วมกับ รมว.เกษตร กว่า 10 ประเทศทั่วโลก อาทิ เยอรมนี ญี่ปุ่น นอร์เวย์ แคนาดา สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อาร์เจนติน่า เพื่อร่วมแบ่งปันข้อมูลและรับทราบการแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพของชาติต่าง ๆ พร้อมทั้งได้รับเชิญจาก OIE เข้าร่วมการประชุมในช่วงอภิปรายทางการเมือง (Political Panel) ในหัวข้อ "การดำเนินการตามแผนการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ" (The engagement of ministerial authorities in the implementation of national action plans against antimicrobial resistance)

นายกฤษฎา กล่าวว่า ไทยดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์แผนปฏิบัติการเพื่อจัดการปัญหาการดื้อยาตามแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว ซึ่งให้ความสำคัญต่อสุขภาพที่ดีของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560 – 2564 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงาน โดยมีเป้าหมายให้ในปี 2564 ภาวะการป่วยจากเชื้อดื้อยาจะลดลง 50% การใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์ 20% และในสัตว์ลดลง 30% ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้น 20% อีกทั้งประเทศไทยมีระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพที่มีสมรรถนะตามเกณฑ์สากล

รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบยุทธศาสตร์ "การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง" เช่น การพัฒนาระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนเชื้อดื้อยาของประเทศแบบบูรณาการ เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพทั้งยาสำหรับมนุษย์และสัตว์ กำหนดให้มีการใช้ยาต้านจุลชีพตามใบสั่งสัตวแพทย์ และลดการใช้ยาต้านจุลชีพในฟาร์มปศุสัตว์และประมง

ทั้งนี้ ไทยดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์ของ OIE ซึ่งสอดคล้องกับแผนดำเนินการระดับโลกตามความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของไทยที่ทำอย่างมียุทธศาสตร์ชัดเจน สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกับนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งจะสำเร็จได้ต้องใช้ระยะเวลาและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ประเทศไทยมั่นใจว่าแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาซึ่งเป็นปัญหาที่ซับซ้อนได้บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับเชิญร่วมประชุม OIE ครั้งนี้ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร 10 กว่าประเทศ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะ OIE delegate และ OIE focal point for Veterinary Products จากประเทศสมาชิก 182 ประเทศ รวมถึงผู้กำหนดนโยบายองค์กรระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญ และแหล่งทุน เพื่อนำเสนอการดำเนินการการจัดการเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นและการสนับสนุนการดำเนินการของ OIE

สำหรับ OIE ในฐานะผู้นำด้านสุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์ได้แก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพผ่านการกำหนดมาตรฐานสำหรับการเสริมสร้างขีดความสามารถการทำงานของสัตวแพทย์ ผู้ผลิตสัตว์ และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ โดยมียุทธศาสตร์ในการจัดการเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพและการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ซึ่งมีวัตถุประสงค์ 4 ข้อที่สะท้อนหลักการของ Global action Plan on AMR คือ 1. เพิ่มความตระหนักรู้และความเข้าใจ 2. สร้างความเข้มแข็งของการเฝ้าระวังและการวิจัย 3. สนับสนุนธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการและการเสริมสร้างศักยภาพ และ 4. สนับสนุนการดำเนินการตามมาตรฐานสากลเนื่องจากปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพโลกที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ทั้งต่อประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา เนื่องจากหากมีการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์อย่างเหมาะสม จะทำให้ไม่ตกค้างในเนื้อสัตว์ ผู้บริโภคลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดื้อยาต้านจุลชีพด้วย เป็นห่วงโซ่กันไป เมื่อเจ็บป่วยจากเชื้อแบคทีเรียจึงสามารถหายารักษาได้ง่าย ดังนั้นจึงมีข้อเรียกร้องจากเวทีโลกขอให้ทุกประเทศเร่งพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ระดับประเทศเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าว โดย

ทั้งนี้ OIE ได้จัดประชุมระดับโลกด้านการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพและการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในสัตว์ครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2556 เน้นการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับสัตว์อย่างรับผิดชอบและรอบคอบ มีข้อเสนอแนะจากการประชุมให้มีการเสริมสมรรถนะให้กับประเทศสมาชิกผ่านระบบการประเมินสมรรถนะของสัตวแพทย์บริการ (OIE PVS) การร่วมมือกับ WHO และ FAO และการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ ต่อมาในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 68 (World Health Assembly : WHA) ได้รับรองแผนดำเนินการระดับโลกเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพและมีมติให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศเร่งจัดทำแผนดำเนินการระดับประเทศเพื่อจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ (National Action Plan on AMR) ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี จะครบกำหนดในเดือนพฤษภาคม ซึ่งไทยจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560 – 2464 โดยองค์การอนามัยโลกรายงานว่า ปัจจุบันมีเพียง 67 ประเทศจาก 194 ประเทศที่มีแผนยุทธศาสตร์เชื้อดื้อยาระดับชาติ

อีกทั้งในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 71 (United Nations General Assembly: UNGA) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 21 กันยายน 2559 ประเทศไทยในฐานะประธานของกลุ่มประเทศ G77 ซึ่งประกอบดัวยประเทศกำลังพัฒนา 134 ประเทศนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับสูง เรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ (AMR) แสดงความมุ่งมั่นทางนโยบายและทางการเมืองของประเทศไทยและกลุ่มประเทศ G77 ในการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาและความร่วมมือจากทุกหน่วยงานและทุกภาคส่วน รวมทั้งเห็นชอบต่อถ้อยแถลงทางการเมืองร่วมกับผู้นำของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในเรื่องกำจัดเชื้อดื้อยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ