(เพิ่มเติม) สศค.คงคาดการณ์ GDP ไทยปี 61 โต 4.5% แม้ปรับลดส่งออกเหลือโต 8%, ศึกษามาตรการกระตุ้นศก.ปลายปีผ่านบริโภคเอกชน-รากหญ้า

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 29, 2018 17:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 61 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ 4.5% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 4.3% – 4.7%) เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 3.9% โดยได้รับแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการจ้างงานที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมที่เริ่มขยายตัวดีขึ้นตามปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังช่วยสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐจากปีก่อนหน้ายังเป็นแรงสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้าอีกด้วย

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามายังประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะยังคงสนับสนุนให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวขยายตัวดีตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลง และนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐรวมถึงการตอบโต้จากประเทศต่างๆ คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าชะลอลงเล็กน้อยเหลือเติบโตได้ที่ 8% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 9.7%

ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 61 จะอยู่ที่ 1.2% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 1.0% – 1.4%) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ

"ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ ผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งความผันผวนของตลาดการเงินโลก"สศค.ระบุ

นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลังสศค. กล่าวว่า ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 61 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.5% มาจากสมมติฐานที่สำคัญดังนี้ 1. อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้ คาดว่าจะเติบโตได้ 4% โดยในส่วนของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของ 15 ประเทศคู่ค้าหลัก (จีน, สหรัฐ, ญี่ปุ่น, ยูโรโซน, ฮ่องกง, เวียดนาม, ออสเตรเลีย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, อินเดีย เกาหลีใต้, อังกฤษ, ไต้หวัน) ได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจของสหรัฐ, ออสเตรเลีย, อินเดีย และไต้หวันเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปรับประมาณการเศรษฐกิจของญี่ปุ่น, ยูโรโซน, ฮ่องกง, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ลดลง นอกนั้นยังคงเดิม

2. ค่าเงินบาท โดยคาดว่าทั้งปี 61 เงินบาทจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 32.25 บาท/ดอลลาร์ ทั้งนี้ พบว่าตั้งแต่ต้นปี จนถึงล่าสุด ณ วันที่ 25 ต.ค.61 เงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 32.20 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น 5.1% เมื่อเทียบกับทั้งปี 60 โดยมองว่าค่าเงินบาทยังมีความผันผวนน้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค

"เงินบาทที่แข็งค่า เพราะดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ซึ่งจะเห็นว่าในครึ่งปีแรก ดอลลาร์อ่อนค่าไปมาก สวนทางกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ FOMC แต่หลังจากนั้นดอลลาร์ก็กลับมาแข็งค่าอีกครั้ง หลังจากธนาคารกลางสหรัฐมีท่าทีแข็งกร้าวเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนี้ ยังมีผลจากข้อกีดกันทางการค้า, ค่าเงินตุรกี ทำให้มีการโยกย้ายเงินทุนไปสู่การถือครองสินทรัพย์ที่ปลอดภัย และนักลงทุนก็หันมาลงทุนในไทย ทำให้เงินบาทในปี 61 แข็งค่าขึ้นจากปีก่อน" นายวโรทัยระบุ

3. ราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยในช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นจากอุปทานน้ำมันดิบที่ลดลงจากปัญหาภายในประเทศเวเนซุเอล่า และปัจจัยที่สหรัฐฯ คว่ำบาตรอิหร่าน อย่างไรก็ดี กลุ่มประเทศโอเปกและนอนโอเปก เช่น รัสเซีย ได้มีการตกลงเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อรองรับปริมาณน้ำมันดิบที่หายไป ทั้งนี้ ในช่วงที่เหลือของปี 61 คาดว่าราคาน้ำมันยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง โดยอาจมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คาดว่าทั้งปีราคาน้ำมันดิบดูไบจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 71.80 ดอลลาร์/บาร์เรล

4. อัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าตลอดทั้งปีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมที่ 1.50%

5. ด้านการท่องเที่ยว โดยได้ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปีนี้ลงเหลือ 38 ล้านคน จากเดิมที่ประมาณการไว้ 39.5 ล้านคน เป็นผลจากเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยลดลง พร้อมปรับลดรายได้จากการท่องเที่ยวในปีนี้ลงเหลือ 2.01 ล้านล้านบาท จากประมาณการเดิมที่ 2.08 ล้านล้านบาท

"เหตุเรือล่มที่ภูเก็ต ส่งผลกระทบให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยลดลง นอกจากนี้ สถานการณ์ค่าเงินตุรกีที่อ่อนค่า ได้เป็นแรงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียหันไปเที่ยวในตุรกีมากขึ้นจากเดิมที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย" นายวโรทัย กล่าว

6. รายจ่ายภาครัฐ โดยในส่วนของรายจ่ายประจำในปีงบประมาณ 61 พบว่าตัวเลขจริงออกมาสูงกว่าคาดการณ์ เนื่องจากกรอบงบประจำที่เพิ่มขึ้น ส่วนรายจ่ายลงทุนนั้น แม้อัตราการเบิกจ่ายจะดีกว่าที่คาด แต่กรอบรายจ่ายลงทุนลดลงอยางมีนัยสำคัญ จึงทำให้เม็ดเงินจากรายจ่ายลงทุนลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในครั้งก่อน ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ได้มีการปรับลดคาดการณ์ลงเล็กน้อยตามตัวเลขจริงที่ออกมา เนื่องจากการเบิกจ่ายช้ากว่าที่คาดไว้

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจไทยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งความผันผวนของตลาดการเงินโลก

นายวโรทัย กล่าวด้วยว่า สศค.กำลังอยู่ระหว่างศึกษามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งจะเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคของภาคเอกชน และกลุ่มรากหญ้า แต่ทั้งนี้คงจะไม่มีมาตรการช็อปช่วยชาติออกมาเหมือนในช่วงปีที่ผ่านมาแล้ว อย่างไรก็ดี มาตรการที่อยู่ระหว่างการศึกษานี้ อาจจะไม่ได้ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ได้เต็ม 100% เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาที่เหลืออยู่อีกเพียง 2 เดือน

"ตอนนี้เรายังไม่ตกผลึกว่าจะออกเป็นมาตรการอะไร แต่คงเป็นมาตรการที่กระตุ้นการบริโภคผ่านทางภาคเอกชน และกลุ่มรากหญ้า เรื่องช็อปช่วยชาติคงจะไม่มีแล้ว เดี๋ยวจะเสพติดกันไปหมด"นายวโรทัย กล่าว

ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สศค. กล่าวถึงการปรับประมาณการส่งออกของไทยในปีนี้ลงเหลือ 8% จากประมาณการเดิมที่คาดไว้ 9.7% นั้น เนื่องจากมองว่าสถานการณ์ส่งออกในปีนี้ต้องเผชิญกับปัจจัยที่สำคัญ โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ต่างนำนโยบายกีดกันทางการค้าออกมาใช้ตอบโต้ระหว่างกัน

"ปีนี้การส่งออกมันมีความผิดปกติ เพราะเจอเหตุการณ์ที่ 2 ประเทศยักษ์ใหญ่มีการตอบโต้กันทางการค้า ทำให้ประมาณการเศรษฐกิจของเราทำได้ยาก เมื่อประเมินยาก เราจึงจำเป็นต้องฟังจากหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการส่งออกเป็นหลัก นั่นคือทางกระทรวงพาณิชย์ เพราะเขาจะมีแผน หรือมีมาตรการที่จะนำมาใช้สนับสนุนในส่วนนี้อยู่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ดูสถานการณ์เป็นรายสัปดาห์ว่าจะมีการตอบโต้อะไรกันใหม่ๆ เพิ่มเติมระหว่างสหรัฐ และจีนอีกหรือไม่" นายพรชัย ระบุ

อย่างไรก็ดี สศค.อยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยเพื่อทดแทนสินค้าสหรัฐในตลาดจีน เช่น สินค้าอาหาร และการส่งออกสินค้าไทยไปทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐ เช่น ยาง พลาสติก เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ