นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ครั้งที่ 24 ระหว่างวันที่ 18-27 ต.ค.ที่ผานมา ณ เมืองโอ็คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นการประชุมระดับเทคนิครอบสุดท้ายของปี 2561 โดยที่ประชุมเร่งผลักดันการเจรจาตามแนวทางที่ได้รับมอบหมายจาก รมต.อาร์เซ็ป เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งคณะเจรจาได้เร่งหารือแบบสองฝ่ายเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของสมาชิกมากที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่การสรุปผลการเจรจาอย่างมีนัยสำคัญภายในปีนี้
รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การประชุมรอบนี้เป็นรอบที่มีความสำคัญมาก สมาชิกอาร์เซ็ปทั้ง 16 ประเทศ ต่างเพิ่มความพยายามอย่างเต็มที่ในการหาข้อสรุปเรื่องสำคัญให้เป็นไปตามเป้าหมายความสำเร็จของการเจรจาในปีนี้ โดยสามารถหาข้อสรุปด้านกฎเกณฑ์ที่สำคัญได้ ได้แก่ เรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้าสามารถสรุปหลักเกณฑ์ในการพิจารณากฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้าได้ตามเป้า ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถประเมินประโยชน์ที่จะได้รับในภาพรวมจากการเปิดตลาดสินค้าของประเทศสมาชิกได้ชัดเจน และจะช่วยให้ผู้ประกอบการได้ใช้เกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าที่เหมาะสมกับรูปแบบการผลิตสินค้ายิ่งขึ้น รวมทั้งเรื่องกลไกการระงับข้อพิพาทที่จะใช้กับความตกลงอาร์เซ็ปทุกข้อบทเพื่อรักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของสมาชิก 16 ประเทศ ในส่วนของการเปิดตลาด คณะทำงานเร่งเดินหน้าหารือสองฝ่ายอย่างเข้มข้นในการพยายามปรับปรุงข้อเสนอเปิดตลาดให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเปิดตลาดตามแนวทางของรัฐมนตรีอาร์เซ็ป เพื่อเตรียมยื่นข้อเสนอเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน รอบสุดท้าย ในวันที่ 2 พ.ย.61 โดยอาร์เซ็ปมีการหารือเพื่อยื่นข้อเสนอเปิดตลาดครอบคลุมสินค้าทุกรายการแต่สมาชิกยังสามารถสงวนสินค้าที่อ่อนไหวไม่นำมาลดภาษีได้ เช่นเดียวกับการค้าบริการและการลงทุนมีการเปิดครอบคลุมทุกสาขา แต่สมาชิกยังคงสามารถสงวนสาขาที่อ่อนไหวได้
นอกจากนี้ ได้มีการหารือเรื่องมาตรการสุขอนามัยพืช (SPS) อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะเรื่องกลไกระงับข้อพิพาทภายใต้บทดังกล่าวจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกสินค้ามีกลไกและกระบวนการพิเศษเพิ่มเติมจากความตกลง WTO ที่ผู้ส่งออกสามารถนำมาใช้เพื่อแก้ไขข้อพิพาท จึงเป็นโอกาสอันดีของไทยที่ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงโดยเฉพาะสินค้าเกษตร และสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงทางการค้ารูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ผลจากการประชุมรอบนี้ คณะกรรมการเจรจาฯ จะรายงานให้รัฐมนตรีทราบในการประชุมเตรียมการรัฐมนตรีอาร์เซ็ป วันที่ 12 พ.ค.61 พร้อมกับจะเสนอให้รัฐมนตรีพิจารณาประเด็นคงค้างที่ยังตกลงกันไม่ได้แต่เป็นประเด็นที่ใกล้จะสรุปได้แล้ว อาทิ การแข่งขัน มาตรการสุขอนามัยพืช (SPS) และกฎระเบียบทางเทคนิค (STRACAP) เพื่อสรุปผลให้ได้ตามเป้าหมายความสำเร็จของการเจรจาในปี 2561
นอกจากนี้ รัฐมนตรีจะต้องรายงานความคืบหน้าการเจรจาให้ผู้นำรับทราบในวันที่ 14 พ.ย.61 ช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 33 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ สำหรับปีหน้า ไทยในฐานะประธานอาเซียนยืนยันพร้อมเดินหน้าเพิ่มความพยายามอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาได้ทั้งหมดในปี 2562
ทั้งนี้ ความตกลงอาร์เซ็ปถือเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมประชากรกว่า 3,560 ล้านคนของประเทศสมาชิกในภูมิภาค มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 29% ของมูลค่าการค้าโลก อีกทั้งครอบคลุมประเด็นทางการค้าการลงทุนที่หลากหลาย มีมาตรฐานสูง และร่วมมือกันในเชิงลึก โดยที่ผ่านมาประเทศในภูมิภาคอาร์เซ็ปที่ไทยส่งออกมากที่สุด ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ตามลำดับ และมีสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา เครื่องจักรกล เหล็ก
อย่างไรก็ดี จากผลการศึกษาของกรมฯ ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พบว่า เมื่อความตกลงมีผลบังคับใช้จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทยเพิ่มขึ้นกว่า 14% การส่งออกเพิ่มขึ้น 15% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น 13% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด โดยกระทรวงพาณิชย์จะติดตามความคืบหน้าของการเจรจาอย่างใกล้ชิดและรายงานผลให้ประชาชนและผู้ประกอบการทราบต่อไป