นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่ง ได้ดำเนินโครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 เพื่อนำเงินบริจาคไปรวมกับเงินบำรุงกองทุนผู้สูงอายุจากภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากสินค้าสุรายาสูบ (2% แต่ไม่เกิน 4,000 ล้านบาทต่อปี) และนำมาจ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยจำนวน 3.6 ล้านคน ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
โดยขณะนี้ กองทุนผู้สูงอายุได้จ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้สูงอายุกลุ่มดังกล่าวแล้วเป็นจำนวน 100 บาทต่อคนต่อเดือนสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และจำนวน 50 บาทต่อคนต่อเดือนสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้เกิน 30,000 แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีโดยในเบื้องต้น กองทุนผู้สูงอายุได้กำหนดจ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 – มีนาคม 2562 และจะพิจารณาจำนวนเงินช่วยเหลือในระยะต่อไปให้สอดคล้องกับเงินที่เข้ากองทุน
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่ต้องการบริจาคเบี้ยยังชีพ กระทรวงการคลังจึงได้กำหนดให้มีช่องทางการรับแจ้งบริจาคผ่านธนาคารพาณิชย์เพิ่มเติมจากช่องทางที่รับแจ้งบริจาคอยู่ในปัจจุบัน โดยในส่วนของธนาคารพาณิชย์จะเริ่มรับแจ้งบริจาคตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 เป็นต้นไป ดังนั้นผู้รับเบี้ยยังชีพฯ ท่านใดมีความประสงค์จะบริจาคเบี้ยยังชีพฯ สามารถนำบัตรประจำตัวประชาชน (หรือมอบอำนาจ) มาที่หน่วยงาน ดังต่อไปนี้
1.สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร
2.สำนักงานเทศบาล
3. สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
4. สำนักงานเมืองพัทยา
5.กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.)
6. สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด (สถจ.)
7. สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)
8. คณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด (คบจ.)
- สำนักงานคลังจังหวัด
- สำนักงานสรรพากรพื้นที่
- สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่
- สำนักงานธนารักษ์พื้นที่
- ด่านศุลกากร
- สำนักงานคณะกรรมการการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยภาคและจังหวัด
- สถาบันการเงินของรัฐ (ทุกสาขา)
- ธนาคารออมสิน
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์
- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
- บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
9. สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยในต่างประเทศ (กรณีแจ้งบริจาคในต่างประเทศ สามารถใช้หนังสือเดินทางแทนบัตรประจำตัวประชาชนได้)
10. ธนาคารพาณิชย์ (ทุกสาขา)
- ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารแลนด์ แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (เริ่มรับแจ้งบริจาค 19 พฤศจิกายน 2561)
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)(อยู่ระหว่างกำหนดวันที่เริ่มรับแจ้งบริจาค)
ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้รับเบี้ยยังชีพฯ มอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแจ้งบริจาคแทน ให้ใช้บัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ พร้อมหนังสือมอบอำนาจและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจที่ลงนามรับรองสำเนาถูกต้องมาด้วย และเพื่อเป็นการตอบแทนความเสียสละของผู้บริจาคเบี้ยยังชีพฯ ภาครัฐจะจัดส่งเหรียญเชิดชูเกียรติ ซึ่งเป็นเหรียญพระคลังมหาสมบัติ วัสดุทองแดงชุบทอง เพื่อเป็นสิริมงคลให้แก่ผู้บริจาค อีกทั้งผู้บริจาคจะได้รับสิทธิในการหักลดหย่อนภาษีสำหรับเงินเบี้ยยังชีพฯ ที่บริจาคเข้ากองทุนผู้สูงอายุด้วย ซึ่งกองทุนผู้สูงอายุจะจัดส่งใบเสร็จให้แก่ผู้บริจาคทุกเดือน อย่างไรก็ดี เพื่อให้การช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้บริจาคอย่างน้อย 12 เดือนจึงจะแจ้งยกเลิกการบริจาคได้
"ขอเชิญชวน ผู้ที่รับเบี้ยยังชีพฯ อยู่ในปัจจุบันที่มีฐานะมั่นคงอยู่แล้ว ให้มาบริจาคเบี้ยยังชีพฯ เพื่อกองทุนผู้สูงอายุจะได้นำเงินดังกล่าวมาช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยซึ่งมีความเป็นอยู่ยากลำบาก จำนวนกว่า 3.6 ล้านคน ให้มีรายได้ในการดำรงชีพเพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" นายลวรรณกล่าว