นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศเวียดนาม และประเทศกัมพูชา เกิดการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง (Cassava Mosaic Disease) ส่งผลให้ผลผลิตมันสำปะหลังเสียหายอย่างรุนแรง ทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังของทั้งภูมิภาคลดลง ซึ่งสวนทางกับตลาดโลกที่มีความต้องการมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทยในการส่งออกมันสำปะหลังไปประเทศเพื่อนบ้าน และคาดว่าในปี 2562 ราคามันสำปะหลังของไทยทั้งระบบจะดียิ่งขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรถือโอกาสนี้พัฒนายกระดับคุณภาพมันสำปะหลัง ตั้งแต่การเพาะปลูก การแปรรูป ตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมันสำปะหลังไทย ควบคู่ไปกับการเฝ้าระวัง/การแก้ไขปัญหาโรคใบด่าง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศผู้ซื้อ และรักษาแชมป์ในการส่งออกมันสำปะหลังของโลกไว้ให้ได้
นายอดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานหลักในการผลักดันการส่งออกสินค้ามันสำปะหลัง ได้ร่วมกับสมาคมมันสำปะหลัง จัดทำแผนการจัดกิจกรรมเจรจาขยายตลาดส่งออกสินค้ามันสำปะหลังไปยังประเทศที่มีศักยภาพ โดยแบ่งออกเป็น 2 ภารกิจหลัก คือ (1) การรักษาตลาดเดิม จัดกิจกรรมเพื่อรักษาตลาดส่งออกเดิม โดยผลักดันให้เกิดการใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอื่นๆ ของประเทศจีน ที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ สารให้ความหวาน กรดซิตริก และพลาสติกชีวภาพ (2) การแสวงหาตลาดใหม่ ผลักดันการส่งออกสินค้ามันสำปะหลังคุณภาพดีและมีมูลค่าเพิ่มสูง ไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ซึ่งที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศ ได้จัดคณะผู้ประกอบการเดินทางไปเจรจาขยายตลาดและส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ในประเทศตุรกี และนิวซีแลนด์ โดยในปี 2562 กรมฯ มีแผนจะจัดคณะผู้แทนเดินทางเยือนประเทศอินเดียในระยะเวลาอันใกล้นี้
ทั้งนี้ จากสถิติในช่วงเดือนมกราคม - สิงหาคม 2561 จะพบว่าประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรวมกว่า 5.69 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 2,054.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปริมาณลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 22.43 ในขณะที่มูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.37 (มกราคม-สิงหาคม 2560 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรวมปริมาณ 7.34 ล้านตัน มูลค่า 1,796.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร ร่วมกันหามาตาการแก้ไขปัญหาโรคใบด่างในมันสำปะหลัง ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ พร้อมทั้งหามาตาการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในอีก 2 สัปดาห์ และจะนำเสนอมาตรการแก้ปัญหา และมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีมติเห็นชอบมาตรการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังปีการผลิต 61/62 เช่น การส่งเสริมเครื่องสับมันสำปะหลังให้กับเกษตรกร 450 เครื่อง จากเดิมที่มี 500 เครื่อง, สนับสนุนโครงการน้ำหยดเพื่อเพิ่มผลผลิต, ส่งเสริมการให้สินเชื่อในการรวบรวมมันสำปะหลัง, ส่งเสริมการให้สินเชื่อฉุกเฉิน, ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง รวมถึงการดูแลมาตรการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยมาตรการเหล่านี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะเร่งดำเนินการต่อไป
ด้านนางสุรีย์ ยอดประจง กรรมการและที่ปรึกษา สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวว่า โรคใบด่าง ไม่มีวิธีการป้องกันเมื่อติดโรคแล้ว ต้องทำลายต้นมันทิ้งอย่างเดียว โดยต้องขุดดินฝังให้ลึก 3 เมตร พร้อมฉีดยาพ่น เพื่อป้องกันการแพร่กระจาย ดังนั้น ภาคเอกชนจะต้องเร่งประชุมเพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหา ซึ่งที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้ร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตรติดตามปัญหาอย่างต่อเนื่องและในบางพื้นที่ที่ประสบปัญหาได้รับการแก้ไขแล้ว เช่น จ.ศรีสะเกษ และสุรินทร์ แต่ขณะนี้โรคได้กระจายไปในจ.ปราจีนบุรี โดยภาครัฐ และเอกชนได้ร่วมกันแก้ไขปัญหา แต่พบว่าเกษตรกร ยังขาดความเข้าใจและความร่วมมือ
"จ.ปราจีนบุรี พบการระบาดตั้งแต่เดือนก.ย.61 และมีต้นมันสำปะหลังติดโรคเพียง 1-2 ต้นเท่านั้น แต่ขณะนี้ พบการระบาดมากขึ้นเป็น 30% ของพื้นที่เพาะปลูก 850 ไร่ กังวลว่าหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว โรคอาจกระจายไปในพื้นที่ใกล้เคียง"