ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.00-2.25% ต่อเนื่องในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2561 หลังจากที่เฟดได้รับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจำนวน 3 ครั้งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินรอบสุดท้ายของปีนี้
โดยปัจจัยพื้นฐานการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสนับสนุนเส้นทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้นของเฟด เนื่องจากการเติบโตของจีดีพีสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวได้สูงกว่าระดับศักยภาพ อีกทั้งตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังมีพัฒนาการที่แข็งแกร่ง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้สะท้อนผ่านภาคการบริโภคของครัวเรือนสหรัฐฯ และรายได้ส่วนบุคคลที่ยังคงขยายตัวได้ดี แม้ว่าจะมีปัจจัยลบ อาทิ ข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ เข้ามากระทบ
ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีความผันผวนในตลาดการเงิน หลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ ขยับขึ้น เฟดจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องในปีนี้ เนื่องจากความผันผวนส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการปรับคาดการณ์ของนักลงทุนถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในระยะข้างหน้า หลังจากที่เจ้าหน้าที่เฟดได้มีการส่งสัญญาณถึงโอกาสที่ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับตัวสูงกว่าคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะยาว อันเป็นการส่งสัญญาณถึงนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ ท่ามกลางพัฒนาการของภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงินยังคงแข็งแกร่ง และไม่น่าจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากความผันผวนดังกล่าว ขณะที่ความผันผวนที่เกิดขึ้นน่าจะช่วยให้นักลงทุนมีการประเมินความเสี่ยงที่ดีขึ้น อันช่วยลดความเสี่ยงที่ราคาสินทรัพย์จะเกิดภาวะฟองสบู่ไปส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยระยะยาว น่าจะช่วยลดโอกาสที่เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะเป็นแบบวกกลับ (Inverted Yield Curve) ที่ตลาดมักจะตีความว่าเป็นตัวส่งสัญญาณถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจเผชิญกับภาวะถดถอยในระยะข้างหน้าได้ด้วย
"ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.00-2.25% ต่อเนื่องในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2561 หลังจากที่เฟดได้รับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจำนวน 3 ครั้งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีความผันผวนในตลาดการเงิน หลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ ขยับขึ้น แต่คาดว่าเฟดจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในปีนี้" เอกสารเผยแพร่ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เฟดคงจะเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไป ซึ่งพัฒนาการดังกล่าว อาจจะส่งผลต่อจังหวะของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2562 ซึ่งปัจจัยที่อาจจะส่งผลต่อจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดที่ต้องจับตามีดังนี้
1. พัฒนาการของภาคเศรษฐกิจจริง ที่อาจเริ่มชะลอลงหลังอัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คงเป็นปัจจัยท้าทายต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไป คงต้องยอมรับว่าการขึ้นของอัตราดอกเบี้ยคงจะทยอยส่งผ่านไปยังภาคเศรษฐกิจจริง และส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจทยอยปรับลดลง โดยภาคเศรษฐกิจที่ต้องจับตาผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยคงหนี้ไม่พ้น 1)ภาคการบริโภคครัวเรือนของสหรัฐฯ ที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอาจจะส่งผลกระทบกับความสามารถในการชำระหนี้ในระยะข้างหน้า 2)ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่เริ่มมีสัญญาณชะลอลง หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ระยะ 30 ปีปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2. แรงกดดันเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าที่ยังคงมีไม่มาก โดยแรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ มีโอกาสผ่อนตัวลงในปี 2562 จากผลของฐานที่ในปีนี้ ขณะที่แรงส่งของมาตรการปรับลดภาษีที่ส่งผลต่อกำลังซื้อคงทยอยหมดลง กอปรกับการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันที่ไม่น่าจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีหน้า คงเป็นอีกปัจจัยที่ลดแรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ซึ่งภาวะดังกล่าวอาจจะทำให้ความจำเป็นที่เฟดจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องมีน้อยลง
"เฟดคงจะมีการประเมินผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้าอย่างใกล้ชิด โดยหากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระยะข้างหน้า ก็อาจจะส่งผลต่อโอกาสที่เฟดอาจมีการปรับจังหวะของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นไปอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เฟดกำลังปรับการดำเนินนโยบายการเงินให้เป็นปกติ" เอกสารเผยแพร่ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดยังคงอยู่ในระดับจำกัด ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่ทางการไทยจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงนี้ เนื่องจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งทางการค้าหลายๆ ประเทศที่ค่าเงินปรับอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง อันอาจจะเป็นปัจจัยที่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออก ท่ามกลางความเสี่ยงจากข้อพิพาทการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ยังคงตรึงเครียด
"มองไปข้างหน้า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยคงเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขนาดที่น้อยกว่าการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ท่ามกลางสภาพคล่องในตลาดการเงินไทยที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งการไหลออกของเงินทุนที่อยู่ในระดับที่ทางการสามารถบริหารจัดการได้" เอกสารเผยแพร่ระบุ