นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) พร้อมผู้บริหารจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ นำผู้แทนวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ทอัพ จากสมาคมต่างๆ อาทิ สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน สมาคมโปรเกรมเมอร์ไทย และตัวแทนนิสิต นักศึกษา จาก STARTUP Thailand League เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นข้อเสนอ "THAILAND TOWARDS STARTUP NATION" เพื่อการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ "ประเทศแห่งสตาร์ทอัพ" (Thailand: Startup Nation) ภายในปี 64 มีเป้าหมายสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ 5% ของ GDP ประเทศไทย เพิ่มการจ้างงาน 50,000 ตำแหน่ง เพิ่มจำนวนวิสาหกิจเริ่มต้นที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม 1,000 ราย
สำหรับข้อเสนอเพื่อรับการสนับสนุนจากรัฐบาล ใน 7 ประเด็น อาทิ การส่งเสริมให้การจัดตั้งและประกอบกิจการวิสาหกิจเริ่มต้นในประเทศเป็นไปอย่างสะดวก การสนับสนุนทางการตลาด รวมไปถึงการขยายกิจการวิสาหกิจเริ่มต้นไปยังต่างประเทศ การสนับสนุนด้านงบประมาณเป็นค่าตอบแทนในการฝึกงานในวิสาหกิจเริ่มต้น การจัดตั้งกองทุนสำหรับสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะรับข้อเสนอแนะต่างๆ จากธุรกิจสตาร์ทอัพไว้พิจารณาอย่างเต็มที่ โดยให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นำไปพิจารณาว่าจะสามารถต่อยอดหรือส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพได้อย่างไร ขณะที่กฎหมายต่างๆ รัฐบาลก็เร่งพิจารณาเพื่ออำนวยความสะดวกให้การทำธุรกิจ และที่ผ่านมาไม่เคยออกมาตรา 44 กระทบต่อการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ
ในส่วนของการอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพ รัฐบาลได้มีการจัดตั้งการจัดตั้งหน่วยงานบริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ หรือ (One Stop Service: "OSS") ช่วยในการติดต่อและขอข้อมูลให้กับสตาร์ทอัพ แต่อาจต้องใช้เวลาปรับปรุงให้ดีขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลยังมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมุ่งไปสู่การเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Government และอยากสตาร์ทอัพในกลุ่มต่างๆมาร่วมทำงานด้วย
ทั้งนี้ เชื่อว่าพลังคนรุ่นใหม่จะมีความเข้มแข็งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ด้วยการนำเทคโนโลยีต่างๆ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ขณะที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รัฐบาลต้องดำเนินการเพื่ออนาคตของประเทศในแต่ละด้าน ดังนั้น ธุรกิจสตาร์ทอัพต้องไปศึกษาว่าจะนำธุรกิจสตาร์ทอัพมาส่งเสริมในแต่ละด้านได้อย่างไร ซึ่งการทำธุรกิจต้องคำนึงถึงต้นทางคือประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยว่าจะอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้อย่างไร
"ยินดีที่เห็นความตื่นตัวของธุรกิจสตาร์ทอัพ กิจกรรมที่เกิดขึ้นถือเป็นเวทีขยายความคิด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ซึ่งต้องกำหนดการดำเนินกิจการต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ให้ตนเอง และให้ประเทศได้อย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน และตนเองไม่อยากเห็นการลงทุนต่างๆล้มลง ซึ่งรัฐบาลก็มีกองทุนเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพในช่วงเริ่มต้น ขณะที่การตั้งเป้าหมายของธุรกิจสตาร์ทอัพว่าจะทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกหลายหมื่นคนนั้น ถือเป็นความท้าทายเพื่อให้ไปสู่เป้าหมาย"พล.อประยุทธ์ กล่าว
พร้อมทั้งยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณหรือตูดขาด จนต้องเรียกเก็บภาษีจากการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง ตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก และการเก็บภาษีการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงนั้น เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอเข้ามา และรัฐบาลก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมรับฟังทุกความเห็นและพยายามแก้ไขปัญหามาตลอด 4 ปี ขอให้ทุกคนนำอดีตมาเป็นตัวอย่าง ว่าเกิดปัญหาอะไรบ้าง ขณะที่กฎหมายคือการสร้างความเท่าเทียม สร้างโอกาสให้ทุกคน และถ้าทุกคนช่วยกัน ไม่ทำทุกอย่างให้เกิดปัญหา ประเทศก็สงบไม่วุ่นวาย ทุกคนต้องช่วยกันและไม่หวั่นไหวต่อแรงกระตุ้นต่างๆ โดยเฉพาะในสื่อโซเชียลมีเดีย
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า รัฐบาลต่อไปที่จะเข้ามาทำหน้าที่ต้องมีธรรมาภิบาล สืบสานสิ่งต่างๆให้เดินหน้า ซึ่งประชาชนทุกคนจะเป็นคนกำหนดอนาคตประเทศ ไม่ใช่ตนเอง
ในช่วงหนึ่ง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้ฟังเพลงแร็พก็เห็นว่าเริ่มเข้าท่า แต่ก็น่าจะให้ปรับแก้ไขเล็กน้อย ในเรื่องของทำนอง แต่เนื้อหานั้นดีแล้ว พร้อมแนะนำว่าให้ทำเพลงแร็พดีๆ สร้างความเข้าใจให้คนไทย
"ขอให้เห็นใจบ้าง เพราะมีหลายอย่างที่ต้องรับผิดชอบ บางอย่างอาจต้องมีการตักเตือน แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นใครแต่อย่างใด เพราะคนรุ่นใหม่คิดเร็วทำเร็ว สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ"นายกรัฐมนตรี กล่าว