นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 62 โดยประเมินว่าจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (GDP) อยู่ที่ 4.3% ซึ่งเติบโตลดลงเล็กน้อยจากปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 4.5%
โดยยังมีปัจจัยหนุนสำคัญที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คือ การลงทุนภาครัฐ ที่มองว่าหลังจากการเลือกตั้งในปี 62 เสร็จสิ้นและมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ จะมีการเดินหน้าแผนการลงทุนของภาครัฐต่างๆ ที่ชัดเจนออกมามากขึ้น ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐมีการเบิกจ่ายมากในช่วงหลังจากที่มีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ จากที่ในปี 61 การเบิกจ่ายภาครัฐทำได้ช้ากว่าที่คาดไว้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น และในช่วงการเลือกตั้งจะมีเม็ดเงินที่ออกมามาก และทำให้การจับจ่ายใช้สอยในช่วงเลือกตั้งมีมากขึ้นด้วย
ขณะที่การส่งออกในปี 62 ธนาคารยังไม่ได้ประเมินตัวเลขไว้ที่ชัดเจน แต่มองว่าจะน้อยกว่าปีนี้ที่คาดว่าภาคการส่งออกไทยจะเติบโต 8-9% ซึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกที่กลับมาชะลอตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะเศรษฐกิจในประเทศจีนที่การบริโภคเกิดการชะลอตัว และการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่มีโอกาสแย่ลงได้อีก ซึ่งทำให้ภาคการส่งออกไทยในปี 62 มีโอกาสเติบโตได้ไม่มากนัก โดยการส่งออกเริ่มได้รับผลกระทบต่อเนื่อง หลังจากที่ตัวเลขภาคการส่งออกไทยเดือนก.ย.หดตัว 5%
ส่วนภาคการท่องเที่ยว ยังคงต้องติดตามว่าจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไรหลังจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เรือล่มในจังหวัดภูเก็ต ทำให้ยอดนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาในไทยหายไปเป็นจำนวนมาก และลดลงอย่างมากในเดือนก.ย.-ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะมีผลกดดันต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้าได้ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยกดดันของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เกิดการชะลอตัว เป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม เพราะอาจจะส่งผลทำให้ GDP ของไทยในปีนี้มีโอกาสต่ำกว่าประมาณการณ์ของธนาคารที่เติบโต 4.5% ได้เล็กน้อย
ด้านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในการประชุมเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก แม้ว่าล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะส่งมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยออกมา เพื่อสกัดกั้นความร้อนแรงของการเก็งกำไร แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทย อายุ 1 ปี ยังมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าตลาดเงินมีความเชื่อมั่นว่า กนง.จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นภายในการประชุมช่วงที่เหลือของปีนี้
ส่วนค่าเงินบาทมองว่าอยู่ที่ระดับ 33 บาท/ดออลาร์สหรัฐในช่วงไตรมาส 4/61 ไปจนถึงไตรมาส 1/62 ซึ่งเป็นผลจากการที่เงินไหลออกจากตลาดทุนเข้าไปถือเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นจำนวนมาก เพราะนักลงทุนเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับเทรนด์ขาลงของตลาดหุ้น จากความเสี่ยงปัจจัยของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้เงินทุนไหลเข้าสู่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า และหากการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า ถ้าผลออกมานายโดนัล ทรัมป์ ได้จำนวนฐานเสียงข้างมากอยู่ จะทำให้การดำเนินนโยบายต่างๆ มีความต่อเนื่องมากขึ้น และทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีโอกาสแข็งค่าได้มากขึ้นอีก