พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า พื้นที่จังหวัดเชียงราย – พะเยา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาคเหนือตอนบน เป็นจุดยุทธศาสตร์หนึ่งของประเทศ ที่สามารถเชื่อมโยงการพัฒนาให้เข้ากับกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) ได้ โดยมีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่ง ทั้ง 2 จังหวัดนี้ยังเป็นฐานผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพารา อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง จึงสามารถจะนำมาต่อยอดเรื่องของการท่องเที่ยวได้ โดยจะสนับสนุนให้พื้นที่ภาคเหนือตอนบนในส่วนนี้ ได้รับการพัฒนาศักยภาพ ให้สามารถรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่และทั่วถึง รวมทั้งการดูแลสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และทางวัฒนธรรมให้คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ เพื่อจะพัฒนาการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการอย่างต่อเนื่อง เป็นการสร้างมูลเพิ่มให้ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
โดยจะเน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ วัฒนธรรมและสุขภาพ รวมถึงเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาค GMS BIMSTEC และ AEC แบบ Multi-destination ตามนโยบายประเทศไทย + 1, +2, +3 อะไรก็แล้วแต่ ที่จะต้องขยายไปยังประทศอื่นด้วย เพื่อจะดึงนักท่องเที่ยวในอาเซียน (ASEAN for ASEAN) และดึงนักท่องเที่ยวจากประเทศที่ 3 (ASEAN for All) ผมก็ขอเน้นว่าเราจะต้องเตรียมความพร้อม ด้านกฎ ระเบียบ การข้ามแดน รองรับการขยายตัวของเส้นทางข้ามแดนใหม่ ๆ ให้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดเส้นทางการท่องเที่ยว รวมทั้งการรักษาความสะอาดของแม่น้ำ คูคลองและถนนในพื้นที่ให้สวยงาม เพื่อส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืน และการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ปลอดภัยด้วย
นอกจากเรื่องการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวแล้ว ก็ได้มีการหารือกันเพื่อสนับสนุนการยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ในเรื่องหลัก ๆ ได้แก่
1. ด้านการค้า การลงทุน คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบการยกการระดับจุดผ่อนปรนบ้านฮวก จังหวัดพะเยา ให้เป็นด่านถาวรเพื่อสนับสนุนการค้า รวมถึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป ด้วยนวัตกรรม SMEs 4.0 เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูป ผ่านการยกระดับคุณภาพ การเชื่อมโยงการตลาดและธุรกิจออนไลน์ อีกทั้งจะต้องนำงานวิจัยมาใช้ในการพัฒนารูปแบบของการผลิตอาหารเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกด้วย
2. ด้านการเกษตร ได้มีการเตรียมพร้อมด้านการพัฒนา ไปสู่เกษตรปลอดภัยที่เรียกว่าเกษตร GAP แล้วก็เกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะเป็น 2 ระดับด้วยกัน โดยเร่งรัดพัฒนาสารกำจัดศัตรูพืชใช้แทนสารเคมี เพื่อให้สามารถเพิ่มพื้นที่และปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ได้ นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร, การพัฒนาและส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า, การสนับสนุนด้านการตลาด รวมถึงการพัฒนาเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็ง อีกทั้งจะต้องเชื่อมโยงเกษตรกรกับผู้ประกอบการใหม่ ที่เรียกว่า Start up ด้วย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์สินค้าเกษตรที่แปลกใหม่ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกด้วย มีรายละเอียดหลายอย่างครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง Demand - Supply และการแก้ปัญหาในเรื่องของยาสูบอีก เกษตรกรที่ปลูกยาสูบอีก รัฐบาลก็นำไปสู่การแก้ปัญหาทุกวัน หลายอย่างก็คงต้องค่อยเป็นค่อยไป
3. เรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่จะมีการเชื่อมต่อทั้งระบบ ทั้งถนนและรถไฟ อาทิ การพัฒนาสายทางเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและภายในกลุ่มจังหวัด, มีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งทางรางที่จังหวัดพะเยา และเร่งออกแบบแผนแม่บทโลจิสติกส์เพื่อรองรับรถไฟทางคู่ เชื่อมโยงเด่นชัย – พะเยา - เชียงของ รวมทั้งศึกษาและกำหนดตำแหน่งจุดพักกระจายสินค้าและจุดพักรถ (Rest Area) ที่เหมาะสมในจังหวัดพะเยาอีกด้วย
4. การพัฒนาคุณภาพชีวิตส่งเสริมให้กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนส่วนนี้ เป็นเมืองต้นแบบสุขภาวะในผู้สูงวัย (Health Aging Smart Cities) ซึ่งจะใช้หลักการปฏิรูปสาธารณสุขภาครัฐ โดยเริ่มตั้งแต่การป้องกัน การรักษา และการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการดูแลสุขภาพ อาทิ การพัฒนาบริการชุมชนและบริการสุขภาพ ที่รวมถึงระบบบริการการแพทย์อุบัติเหตุฉุกเฉิน รองรับผู้สูงอายุ รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้สมุนไพรครบวงจรไปสู่เชิงพาณิชย์ และศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งศูนย์ที่พักอาศัยสาหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร ที่มีการพัฒนาอาชีพ และศึกษาออกแบบรายละเอียดอารยสถาปัตย์ของสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ป้องกันให้ได้ก่อนที่จะไปสู่การรักษา แล้วก็ขอขอบคุณ อสม. ที่ร่วมกับโรงพยาบาลประจำตำบล ที่เป็นผู้ที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด รวมทั้งอาสาสมัครต่าง ๆ ด้วยในการดูแลผู้ป่วยติดบ้าน หลายอย่างก็มีการปฏิรูปไปแล้ว
5. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พื้นที่กลุ่มจังหวัดนี้ถือเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของภูมิภาคและของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ของน้ำ การก่อสร้างประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ การเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำ โครงการต่าง ๆ เหล่านี้ จึงจะต้องพิจารณาดำเนินการตามลำดับความสำคัญ ความเร่งด่วน ให้สอดคล้องกับความจำเป็น ความต้องการของพื้นที่ และของประชาชน แต่เราก็ต้องระมัดระวังในเรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณด้วย ต้องเป็นไปตาม พรบ. การเงินการคลังด้วย แผนงานงบประมาณต่าง ๆ เหล่านี้