กรมการค้าต่างประเทศ ปลดล็อคผู้ค้าไทยใช้ Form E กระจายสินค้าส่งขายประเทศภาคี FTA อาเซียน-จีน

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday November 4, 2018 11:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ในฐานะหน่วยงานหลักในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงด้านการค้าต่างๆ รวมถึงมีภารกิจในการกำกับดูแลด้านการค้าต่างประเทศของไทย ได้มีการผลักดันให้มีการปรับปรุงระเบียบที่เป็นอุปสรรคทางการค้าและโลจิสติกส์ โดยเมื่อวันที่ 9-12 ตุลาคม 2561 กรมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมเจรจาในการประชุมคณะทำงานด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (ACJC-WGROO) ครั้งที่ 11 ณ นครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อผลักดันให้ที่ประชุมหาข้อสรุปประเด็นการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) แบบ Movement Certification (MC) กรณีนำเข้าสินค้าเป็นล็อตใหญ่เข้ามาทยอยส่งออกเพื่อขายต่อ (Partial Shipment) ซึ่งที่ผ่านมาขาดความชัดเจนว่าสามารถขอ Form E แบบ MC สำหรับการทยอยส่งออกหลายครั้งได้หรือไม่

โดยในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมมีมติว่า ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) อนุญาตให้ออกหนังสือรับรอง Form E แบบ Movement Certification (MC) กรณีทยอยส่งออกได้

นายอดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า Form E แบบ Movement Certification (MC) เป็นข้อกำหนดที่เอื้อให้กับรูปแบบการค้าแบบ "ซื้อมา-ขายไป" กล่าวคือ กรณีของประเทศไทย ผู้ค้าไทยสามารถนำเข้าสินค้าที่ได้ถิ่นกำเนิดจากประเทศภาคีหนึ่งมาขายต่อโดยการส่งออก (re-export) ไปยังประเทศภาคีอื่น ได้แก่ จีน และประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ อีก 9 ประเทศ โดยยังคงได้รับสิทธิพิเศษในการลด/ยกเว้นภาษีขาเข้าประเทศปลายทาง เป็นแต้มต่อในการขายสินค้า และนับเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งเป็นการพัฒนาธุรกิจจากภาคการผลิตก้าวสู่ภาคบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากยิ่งขึ้น

"การปลดล็อคระเบียบปฏิบัติภายใต้ความตกลง ACFTA ช่วยให้ผู้ค้าไทยสามารถนำเข้าสินค้าจากประเทศภาคี ACFTA มาทยอยส่งขายต่อให้กับลูกค้าในประเทศภาคีอื่น โดยใช้ Form E แบบ Movement Certificate เพื่อขอรับสิทธิพิเศษลด/ยกเว้นภาษีนำเข้าประเทศภาคีปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นการอำนวยความสะดวก ลดอุปสรรคทางการค้า และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหันมาใช้สิทธิ ACFTA เพิ่มมากขึ้น" อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศระบุ

ทั้งนี้ รูปแบบการค้าในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป ความสามารถในการแข่งขันด้านการขายสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องอาศัยการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนในการกระจายสินค้าไปถึงมือลูกค้าด้วย ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่มีเครือข่ายทางการค้าและมีศักยภาพด้านโลจิสติกส์มีความได้เปรียบ และในบางกรณีสามารถสร้างรายได้โดยไม่ต้องผลิตสินค้าด้วยตนเองเพียงเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ผลิตมาเป็นผู้กระจายสินค้า ดังเช่นโมเดลธุรกิจของประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ในการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของอาเซียน กรมฯ จึงพยายามผลักดันและพัฒนาโลจิสติกส์ของไทยให้เข้มแข็ง เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบในการแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ