นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลได้เร่งรัดการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าตามแผนแม่บท และจะเร่งเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ขออนุมัติ รถไฟฟ้าอีก 2 โครงการ คือ โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) 3เส้นทาง ได้แก่ สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มธ.รังสิต ระยะทาง 8.9 กม. วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท และสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 6 กม. ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 19.7 กม. วงเงิน 17,671.61 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีส้มด้านตะวันตก ช่วง ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ คาดว่าจะเสนอได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งจะทำให้สามารถผลักดันรถไฟฟ้าได้ครบ10 สายตามแผนแม่บท ยกเว้นสายสีแดง ด้านใต้ จากหัวลำโพง -วงเวียนใหญ่-มหาชัย ที่อยู่ระหว่างการทบทวนการศึกษา ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
สำหรับการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ปัจจุบัน (ณ วันที่ 31ต.ค.61) มีความก้าวหน้ารวมร้อยละ 82.49โดยโครงการฯ มีกำหนดก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จภายในปี 2562และ กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ภายในปี 2563
ส่วนอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธิน เป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วง หมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต ก่อสร้างตั้งแต่เดือน ก.พ. 60 มีขนาด 4 ช่องจราจร กว้าง 16.80 เมตร ยาว 1,085 เมตร ความสูงช่องทางลอด 5.25 เมตร แบ่งเป็น 2 ทิศทาง ได้แก่ ทิศทางฝั่งขาเข้า มุ่งหน้าแยกรัชดา-ลาดพร้าว และฝั่งขาออกมุ่งหน้าสะพานพระราม 7 ทิศทางละ 2 ช่องจราจร ซึ่งทำให้แนวถนนรัชดาภิเษกมีช่องการจราจรรวมถนน และอุโมงค์ เพิ่มขึ้นเป็น 8 ช่องจราจร จากเดิมที่เป็นสะพานข้ามแยกที่มีช่องจราจรรวม 6 ช่องจราจร
ทั้งนี้ รฟม. ได้นำเทคนิคการก่อสร้างผนังอุโมงค์ทางลอดใต้ดินที่มีประสิทธิภาพเข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อลดระยะเวลาในการก่อสร้าง ควบคู่ไปกับการจัดการจราจรแบบบูรณาการ ส่งผลให้การก่อสร้างแล้วเสร็จระยะเวลา 21 เดือน เร็วกว่าแผนงาน 3 เดือน
นอกจากนี้ รฟม.ยังอยู่ระหว่างเร่งรัดการก่อสร้าง จะเปิดสะพานรถยนต์ข้ามแยกเกษตร ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนธ.ค.นี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนอีกด้วย ส่วนสะพานข้ามแยกรัชโยธินและแยกเสนานิคมนั้น จะเร่งรัดให้เสร็จในเดือน ก.พ.62 ซึ่งเร็วกว่าแผน 1 เดือน โดยเมื่อสะพานข้ามแยกทั้ง3 ตัวเสร็จจะแก้ปัญหาจราจรแนวรับดาฯ ,พหลโยธิน,ลาดพร้าวได้อย่างมาก
ด้าน นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้ ได้ข้อสรุปแล้วว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ นั้น จะมีการเปิดทดสอบเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ในวันที่ 6 ธ.ค.61 กำหนดระยะเวลาเบื้องต้น 4 เดือน โดยยังไม่มีการเก็บค่าโดยสาร เนื่องจากเป็นช่วงทดสอบการเดินรถ ซึ่งขณะนี้ กทม. ได้มีการสั่งรถไฟฟ้าเข้ามาเพิ่ม จะเป็นการทดสอบการเดินรถให้เข้ากับระบบซึ่งการทดสอบดังกล่าวจะมีการกำหนดเวลาการเดินรถอีกครั้ง
ส่วนสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต รฟม. จะเร่งรัดเพื่อให้เปิดเดินรถ 1 สถานีแรก จากหมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าว ในเดือนส.ค.62 เพื่อบรรเทาความแออัดที่ สถานีหมอชิต ของรถไฟฟ้าบีทีเอส และทำให้มีการเชื่อมต่อกับสายสีน้ำเงินที่สถานีพหลโยธินได้สะดวก ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนจากสายสีเขียวมายังสายสีน้ำเงินได้สะดวก
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่ารฟม. กล่าวว่า การทดสอบการเดินรถเสมือนจริง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน มีการจำลองสถานการณ์ ต่างๆ ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของกทม.และผู้เดินรถ ซึ่งคาดว่าจะต้องมีการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเพื่อร่วมในการทดสอลการเดินรถ โดยจะมีการกำหนดตารางเดินรถ ซึ่งจะไม่เหมือนการเดินรถปกติ เพราะเป็นการทดสอบ
ในส่วนของการโอนสิทธิ์การเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กทม.นั้น ต้องรอเรื่องการกู้เงินของกทม.ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงเดือนมี.ค. 62 ดังนั้นในช่วงพ.ย.ไม่เกินต้นธ.ค.นี้จะต้องมีการทำข้อตกลงร่วมกันก่อนในการให้กทม.เดินรถสายสีเขียวใต้ในวันที่ 6 ธ.ค.นี้ได้
สำหรับสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต คาดว่างานโยธาจะเสร็จครบ 100% ในเดือนก.พ. 62 ขั้นตอนต่อไปเป็นงานวางราง ซึ่งจะเร่งรัดใน 1 สถานแรก หมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าวก่อน ภายใน 6 เดือนเพื่อเปิดเดินรถในเดือนส.ค. 62 ส่วนการวางรางตลอดสายถึงคูคต คาดว่าจะใช้เวลากว่า 1 ปี และเปิดเดินรถตลอดสายได้ในปี 63 ซึ่งหลังจากงานโยธาเสร็จ จะมีการลงนามกับกทม.ในการโอนหนี้และทรัพย์สินสายเหนืออีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในเดือนส.ค. 62 เปิดเดินรถสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ช่วง 1 สถานี จากหมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าว และใน เดือนก.ย. 62 เปิดเดินรถสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ –บางแค และ เดือนมี.ค.2563 จะเปิดเดินรถสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วง เตาปูน-ท่าพระ