(เพิ่มเติม) ม.หอการค้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค.อยู่ที่ 81.3 ปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 5, 2018 15:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ต.ค.61 อยู่ที่ 81.3 จาก 82.3 ในเดือนก.ย.61 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากความกังวลสงครามการค้าและนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 68.4 จาก 69.4 ในเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 76.5 จาก 77.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 99.0 จาก 100.0

สำหรับปัจจัยลบที่ส่งผลให้ดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ การส่งออกเดือนก.ย.61 ลดลง 5.20%, ราคาพืชผลทางการเกษตรส่วนใหญ่ยังทรงตัวในระดับต่ำ, ความกังวลสงครามการค้าสหรัฐฯและจีน, นักท่องเที่ยวจีนลดลง, ผู้บริโภคยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและกระจุกตัว

ในขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 61 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.5%, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง, สินค้าเกษตรบางรายการ เช่น มันสำปะหลัง ปรับตัวดีขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ต.ค.61 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากปัจจัยกดดันที่สำคัญ 2 ประการ คือ ความกังวลของผู้บริโภคจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยลดลงจากผลของอุบัติเหตุเรือล่มที่ภูเก็ต นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยกดดันจากที่ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันและในอนาคต จึงทำให้ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยเท่าที่ควร ซึ่งต้องรอติดตามสถานการณ์ในเดือนหน้าว่าผู้บริโภคจะมีมุมมองต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศต่อไปอย่างไร

"สิ่งที่เราเป็นห่วงคือ เป็นการปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นฯ ทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งปัจจัยที่กดดันให้ดัชนีลดลงก็มีทุกรูปแบบทั้งความกังวลเรื่องสงครามการค้า นักท่องเที่ยวจีนชะลอลง ราคาพืชผลเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ...และที่เห็นชัดคือคนเริ่มไม่มั่นใจทิศทางการเมืองในอนาคตว่าจะมีเสถียรภาพที่โดดเด่นหรือไม่ มีหลายบริบทที่ทำให้คนไม่มั่นใจทิศทางการเมืองในปัจจุบันและอนาคต จึงยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย" นายธนวรรธน์ ระบุ

นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า จากข่าวที่เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนต.ค.ต่อเนื่องต้นเดือนพ.ย.ที่ระบุว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ได้หารือทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ซึ่งทำให้มีการประเมินว่าปัญหาสงครามการค้าน่าจะมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น และเป็นสิ่งที่ต้องติดตามว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพ.ย. และภาวะเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป

อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังเชื่อว่าการส่งออกของไทยในปีนี้ จะยังคงอยู่ในระดับเป้าหมายเติบโต 8% และทิศทางของนักท่องเที่ยวจีนจะไม่ทรุดตัวลงไปมากกว่าเดิม แม้จะยังไม่เห็นสัญญาณการกลับมาที่ชัดเจนนัก โดยยังคาดว่าในปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังเป็นไปตามเป้าเช่นกันที่ระดับ 38 ล้านคน ดังนั้นเชื่อว่าปัญหาเรื่องนักท่องเที่ยวจีน และปัญหาสงครามการค้าจะไม่เป็นตัวกดดันให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนถัดไปแย่ลง

"การส่งออกของไทยก็น่าจะทำได้ตามเป้า 8% ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติก็น่าจะได้ 38 ล้านคนในปีนี้ และสัญญาณการการจับจ่ายใช้สอยในช่วงสิ้นปีก็ยังไม่ทรุดตัวลงมาก เราจึงยังคงมุมมองการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ไว้ตามเดิมที่ 4.4-4.8% โดยมีค่ากลางที่ 4.6%" นายธนวรรธน์ กล่าว

พร้อมระบุว่า คงต้องรอติดตามดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพ.ย.ด้วยว่า ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ทั้งการคลายตัวของสงครามการค้า การส่งออก ยอดนักท่องเที่ยวจีนในช่วงไฮซีซั่น ราคาพืชผลทางการเกษตร และราคาน้ำมัน จะส่งผลต่อทิศทางของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในระยะถัดไปอย่างไร แต่ทั้งนี้เชื่อว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะยังไม่เข้าสู่ช่วงขาลง แม้จะเป็นการปรับลดลงติดต่อกัน 2 เดือนก็ตาม

สำหรับในปี 2562 ม.หอการค้าไทย ยังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในระดับ 4.3-4.5% แต่หากสถานการณ์สงครามการค้ามีความยืดเยื้อ ก็อาจจะมีผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าขยายตัวเหลือ 4.0-4.2% และหากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพ.ย.ปรับลดลงต่อ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนมุมมองไปเป็นขาลงได้

"ถ้าในเดือนพ.ย. กรณีสงครามการค้าไม่สามารถเจรจาได้อย่างเบ็ดเสร็จ ก็จะมีผลต่อเศรษฐกิจปีหน้า ซึ่งเดิมเรามองว่าปี 62 เศรษฐกิจจะโตได้ในกรอบ 4.3-4.5% เราก็อาจจะเห็นโตเหลือแค่ 4-4.2% ถ้าสงครามการค้ายังมีปัญหา แต่ตอนนี้เราขอตามข้อมูลก่อน" ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ