น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการติดตามโครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน พบว่า ในภาพรวมเกษตรกรมีความพึงพอใจต่อภาพรวมโครงการระดับมาก และยังคงต้องการให้ภาครัฐขยายโครงการและสนับสนุนเงินอุดหนุนรวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาอาชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเกษตรกรให้ข้อคิดเห็นว่า ภาครัฐควรปรับลดหลักเกณฑ์การกำหนดคุณสมบัติของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เช่น เกษตรกรที่มีพื้นที่สวนยางมากกว่า 50 ไร่ และกำหนดอายุของยางในการเข้าร่วมโครงการเป็นยางที่เปิดกรีดแล้วเท่านั้น ซึ่งหากปรับลดหลักเกณฑ์ลง เกษตรกรจะให้ความสนใจในการเข้าร่วมโครงการมากยิ่งขึ้นรวมทั้งต้องการให้จัดหาตลาดเพื่อรองรับผลผลิตจากเกษตรกรที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนอาชีพเพิ่มเติม
อนึ่ง โครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน ภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรตัดโค่นต้นยาง ในพื้นที่ 65 จังหวัด เพื่อลดพื้นที่ปลูกยางพาราและปริมาณผลผลิตที่จะเข้าสู่ระบบ อีกทั้งลดความเสี่ยงผลกระทบจากราคายางตกต่ำและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยาง มีการสนับสนุนเงินอุดหนุนค่าตัดโค่นต้นยางให้เกษตรกร 2 งวด ได้แก่ งวดที่ 1 ไร่ละ 4,000 บาท และ งวดที่ 2 ไร่ละ 6,000 บาท
โครงการได้เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่ 1 เมษายน 2561 จนถึง 30 กันยายน 2561 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 14,623 ราย พื้นที่เข้าร่วมโครงการ 93,062 ไร่ เกษตรกรตัดโค่นต้นยางแล้วเสร็จ 13,030 ราย ในพื้นที่ 69,080 ไร่ (เป้าหมาย 30,000 ราย พื้นที่ 150,000 ไร่)
ทั้งนี้ เกษตรกรร้อยละ 37 ตัดสินใจนำพื้นที่เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากเห็นว่า ต้นยางไม่สมบูรณ์ให้ผลผลิตน้อย ส่วนร้อยละ 28 เห็นว่าราคายางพาราตกต่ำ และร้อยละ 23 ต้องการปรับเปลี่ยนอาชีพ ในขณะที่ร้อยละ 12 ขาดแรงงานในการดูแลสวนยาง
ขณะนี้ เกษตรกรร้อยละ 74 ได้รับเงินอุดหนุนค่าตัดโค่นต้นยาง งวดที่ 1 แล้ว และเข้ารับการอบรมการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมใหม่เพื่อทดแทนการทำอาชีพชาวสวนยาง โดยพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มีความสนใจด้านการปลูกไม้ผล/ไม้ยืนต้น พืชไร่ และพืชผักสวนครัว ตามลำดับ และงวดที่ 2 เกษตรกรร้อยละ 61 ได้รับเงินอุดหนุนค่าตัดโค่นต้นยางเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการยางแห่งประเทศไทยและกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เร่งดำเนินการให้เกษตรกรได้รับเงินอุดหนุนให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป