นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทย ร่วมกับ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดตัวโครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการ SMEs ประชารัฐ และ นโยบายรัฐ ผ่าน 5 ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ วงเงินค้ำประกันรวมเป็น 1 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ได้แก่ สินเชื่อ Krungthai sSME ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ เพื่อสนับสนุนร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่ติดตั้งเครื่อง EDC และจะขยายไปยังร้านค้าที่ติดแอพพลิเคชั่นถุงเงินประชารัฐ ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรณีไม่มีหลักประกัน ให้วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท
สินเชื่อ Krungthai sSME ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนวงเงินในการขยายธุรกิจ ให้ผู้ประกอบการ SME เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ทัวร์ ร้านอาหาร ร้านขายสินค้า OTOP ทั้งในเมืองท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง รวมถึงธุรกิจต่อเนื่องทั้งหมด อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ 4% ต่อปี
สินเชื่อ Krungthai sSME EEC 4.0 สำหรับผู้ประกอบการหรือคู่ค้าที่อยู่ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ในจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา กรณีไม่มีหลักประกัน ให้วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยให้ บสย.ค้ำประกัน
สินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 S-Curve ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ เป็นต้น
สินเชื่อ Krungthai Mini Bus สนับสนุนเงินทุนให้กับผู้ประกอบการรถตู้โดยสาร เพื่อเปลี่ยนเป็นรถมินิบัส ให้กู้สูงสุดรายละไม่เกิน 20 ล้านบาท
นอกจาก 5 ผลิตภัณฑ์สินเชื่อในโครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการ SMEs ประชารัฐและนโยบายรัฐ ผ่านธนาคารกรุงไทยแล้ว ธนาคารกรุงไทยยังสนับสนุน SMEs ทำบัญชีเดียว ซึ่งภาครัฐจะนำมาใช้ในต้นปีหน้า โดยจัดอบรมให้ความรู้การจัดทำบัญชีเดียวให้กับลูกค้าที่เป็นนิติบุคคล และลูกค้าไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการค้ำประกันเป็นระยะเวลา 3 ปี ส่วนลูกค้า SMEs ขนาดเล็ก วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท ธนาคารก็สนับสนุนเช่นกัน โดยไม่คิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันเป็นระยะเวลา 2 ปี
นายผยง กล่าวต่อว่า ธนาคารคาดว่าการปล่อยสินเชื่อ SMEs โครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการบสย.จะปล่อยได้เกิน 2 หมื่นล้านบาท ในสิ้นปี 62 จากต้นปี 61 ที่ 1 หมื่นล้านบาท โดยที่ปัจจุบันธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อในโครงการดังกล่าวไปแล้ว 4 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็นจำนวนลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ จำนวน 3,000 ราย โดยปล่อยสินเชื่อเฉลี่ยกว่า 1 ล้านบาท/ราย คิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 4-5.5% ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรกที่ให้อัตราดอกเบี้ยคงที่ และปีที่ 3 เป็นต้นไปจะคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว ตาม MRR ที่ธนาคารกำหนดตามอุตสาหกรรมของลูกค้า โดยอายุเฉลี่ย 7 และ 12 ปี โดยที่กลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มกรุงไทย sSME ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ มีการปล่อยสินเชื่อมากที่สุดราว 2 พันล้านบาท ซึ่งมีการเติบโตมากกว่ากลุ่มอื่น 2 เท่า
สำหรับพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารคาดว่าในสิ้นปีนี้จะทำได้ตามเป้าหมาย 3.5 แสนล้านบาท โดยที่ปัจจัยผลักดันเป็นสินเชื่อเอสเอ็มอีในขนาดเล็กและขนาดกลางที่เติบโตได้ราว 5% โดยที่สัดส่วนการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีของให้กับลูกค้า แบ่งเป็น 60% สินหมุนเวียน และ 40% เป็นสินเชื่อเพื่อการลงทุน ส่วนสินเชื่อภาคการเกษตรธนาคารที่ปล่อยให้กับผู้ประกอบการโรงสีเพื่อไปซื้อข้าวของชาวนาแม้ว่าจะมีสัดส่วนสูงถึง 60% มากกว่าเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด แต่ธนาคารได้ขอผ่อนผันไว้ และได้มุ่งเน้นไปที่การปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการโรงสีที่ไปซื้อข้าวของชาวนาเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่มาขอเพื่อซื้อข้าวของธนาคารเท่านั้น
ส่วนระดับ NPL ของสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารในสิ้นปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 5-6% ใกล้เคียงกับปัจจุบัน เพราะปัจจุบันกลุ่มเอสเอ็มอียังคงเปราะบางอยู่ ซึ่งธนาคารต้องเข้าไปแก้ไขหนี้กลุ่มนี้ รวมถึงปรับโครงสร้างหนี้ ในภาวะที่อ่อนแอเพื่อทำให้ลูกหนี้ของธนาคารกลับมาแข็งแรง
ด้านค่าใช้จ่ายทางด้านไอทีของธนาคารยังคงใช้ 1.2 หมื่นล้านบาท ธนาคารมองว่าไม่ได้เป็นกดดันที่สำคัญต่อผลการดำเนินงานของธนาคาร แต่อย่างไรก็ตามธนาคารก็ยังคงเน้นสร้างกำไรให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน ซึ่งธนาคารอยากให้มองในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น โดยการที่ธนาคารยังคงมีการลงทุนเทคโนโลยีต่อเนื่อง เพราะอยู่ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจการเงินมากขึ้น ทำให้ธนาคารต้องปรับตัวเพื่อการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อตอกย้ำวิสัยทัศน์ของธนาคารที่ต้องการเป็น Invisible bank ที่ลูกค้าสามารถใช้บริการได้ทุกที่ ทุกเวลา
"เรายังคงต้องลงทุนด้านไอที ถ้าเราไม่ทำ เราก็แข่งขันกับคนอื่นไม่ได้ และในยุคนี้ที่เป็นยุค New Normal เราต้องหาอะไรใหม่ๆเข้ามา เพราะปัจจุบันโครงสร้างกรุงไทย NPL โตแซงสินเชื่อไปแล้ว และตอนนี้มีกฎเกณฑ์ใหม่ๆเข้ามา เช่น IFRS 9 และ Basel III ทำให้ธนาคารต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยง พยายามสร้างผลตอบแทนให้สูงขึ้น รวมทั้งควบคุมต้นทุนทางการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม"นายผยง กล่าว
ด้านนายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า ความร่วมมือของทั้ง 2 หน่วยงานในครั้งนี้จะช่วยขับคลื่อนนโยบายรัฐเพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนได้เร็ว และง่าย โดยร่วมกับธนาคารกรุงไทยในการแก้ปัญหาให้สามารถอนุมัติสินเชื่อได้รวดเร็วขึ้นภายใน 3 ชั่วโมง โดยที่ข้อมูลของลูกค้าที่ธนาคารกรุงไทยรับมาจะส่งตรงไปที่ บสย. โดยไม่ต้องมีเอกสาร ซึ่งทีมไอทีของบสย.และธนาคารกรุงไทยมีการร่วมมือกันในการส่งข้อมูลถึงกัน แต่เกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อจะยังคงใช้มาตรฐานเดิม โดยไม่มีการการลดหย่อนเกณฑ์
ขณะนี้บสย.ได้อนุมัติการค้ำประกันสินเชื่อในโครงการดังกล่าวรวม 477 ราย วงเงินค้ำประกันสินเชื่อกว่า 291 ล้านบาท ณ วันที่ 2 พ.ย. 61 โดยบสย.ยังมีโครงการค้ำประกันสินเชื่ออื่นๆ ผ่านสินเชื่อธนาคารกรุงไทยอีก 3 โครงการ ได้แก่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับ SMEs นิติบุคคลบัญชีเล่มเดียว โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs รายเล็ก วงเงินค้ำประกันสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 5 ล้านบาท และโครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับ SMEs ทั่วไป โดยที่พอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีโครงการค้ำประกันสินเชื่อของบสย.ในส่วนของธนาคารกรุงไทยมีที่เป็นสินเชื่อคงค้างรวมในปัจจุบันที่ 5.54 หมื่นล้านบาท และในปีนี้ถึงปัจจุบันได้ปล่อยสินเชื่อในโครงการดังกล่าวไปแล้ว 8.3 พันล้านบาท โดยที่มีสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) น้อยกว่า 10% ซึ่งบสย.ตั้งเป้าค้ำประกันสินเชื่อทั้งหมดในปีนี้ 1 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทำได้ไกล้เคียงเป้าหมาย โดยปัจจุบันบสย.ได้ค้ำประกันสินเชื่อไปแล้ว 9.5 หมื่นล้านบาท