เลขาฯ กสทช.คาดประมูลคลื่นรอบใหม่ มี.ค.-เม.ย.62 เร่งเกิดลงทุน 5G, เตรียมชงร่างเกณฑ์เรียกคืนคลื่นเข้าบอร์ด 20 พ.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 7, 2018 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คาดว่าการประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.62 โดยจะนำคลื่นย่าน 1800 เมกกะเฮิรตซ์ , 2600 เมกกะเฮิรตซ์, 3400 -3500 เมกกะเฮิรตซ์ , 26- 28 กิกะเฮิรตซ์ มาประมูล

แต่สิ่งที่ กสทช.ยังเป็นห่วงการเกิดของเทคโนโลยี 5G เอกชนจะต้องเป็นผู้ขับเคลื่อนและลงทุน ถ้าไม่มีเงินลงทุน 5G ก็จะไม่เกิด ดังนั้นก่อนการประมูลเกิดขึ้น กสทช.จะทบทวนหลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่นความถี่ รวมถึงมูลค่าคลื่นให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยอาจจะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในส่วนของการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่จะมีการขยายเวลาออกไปให้มากขึ้น รวมถึงการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง

นอกจากนี้ กสทช.อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะจัดการประมูลคลื่นความถี่เพื่อใช้งานเฉพาะในภาพอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวคิดในการประมูลคลื่นจากเดิมผู้ประมูล คือ ผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม ไปเป็นเจ้าของกิจการ โรงงาน หรือภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้ประมูลคลื่นความถี่เพื่อนำไปใช้ในกิจการ

นายฐากร กล่าวว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองด้านโทรคมนาคมวันนี้ (7 พ.ย.) ยังมีมติเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น โดยจะนำเข้าสู่การพิจารณาของกรรมการกสทช.ในวันที่ 20 พ.ย.นี้ โดยหลังจากบอร์ด กสทช.เห็นชอบแล้วจะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา

สำหรับการสู่กระบวนการในการเรียกคลื่นคลื่น กสทช.จะทำบทวิเคราะห์ถึงผลกระทบและประโยชน์ที่จะได้จากการเรียกคลื่นคลื่นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อให้บอร์ดกสทช.พิจารณา เมื่อผ่านความเห็นชอบแล้วจะจ้างองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรที่กสทช.กำหนดไว้ในระเบียบให้ทำการศึกษาเพื่อประเมินมูลค่าคลื่นที่เหมาะสมเพื่อเสนอต่อคณะทำงานในการเรียกคลื่นคลื่นที่จะประกอบด้วย คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงบประมาณ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้กำหนดอัตราค่าเยียวยาเมื่อต้องเรียกคืนคลื่นความถี่ก่อนจะเสนอให้บอร์ดพิจารณา เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะแจ้งไปยังหน่วยงานเจ้าของคลื่นความถี่เพื่อขอทราบความคิดเห็น ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการต้องการส่งเสริมให้ประเทศไทยนำเทคโนโลยี 5G มาใช้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ