รฟท.โชว์ผลงาน 4 ปี ลงทุนรถไฟทางคู่ 7 โครงการ วงเงิน 2.13 แสนลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday November 10, 2018 08:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สืบเนื่องจากรัฐบาลภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเป็นนโยบายสำคัญ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในระยะยาว พร้อมกับมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 8 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2558-2564 เพื่อวางรากฐานการลงทุนพัฒนาให้เกิดความต่อเนื่อง และเชื่อมโยงระบบขนส่งทางราง ถนน น้ำ และอากาศเข้าไว้ด้วยกัน

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ให้ความสำคัญสนองตอบต่อนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยนับตั้งแต่มีการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย ปี 2558 จนถึงปัจจุบันปี 2561 ตลอดช่วงระยะเวลา 4 ปี การรถไฟฯ สามารถขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนโครงการรถไฟทางคู่ได้ตามแผนที่ยุทธศาสตร์กำหนดไว้ จำนวน 7 โครงการ คิดเป็นวงเงิน ลงทุนรวมกว่า 213,100.41 ล้านบาท ประกอบด้วย

1. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ วงเงิน 24,722.28 ล้านบาท ระยะทาง 148 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี

2. โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 85,345 ล้านบาท ระยะทาง 323 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี

3. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น วงเงิน 26,007.20 ล้านบาท ระยะทาง 187 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี

4. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ วงเงิน 29,449.31 ล้านบาท ระยะทาง 132 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี

5. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร วงเงิน 17,290.63 ล้านบาท ระยะทาง 165 กิโลเมตรระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี

6. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน วงเงิน 20,046.41 ล้านบาท ระยะทาง 169 กิโลเมตรระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี

7. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน 10,239.98 ล้านบาท ระยะทาง 84 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี

โครงการรถไฟทางคู่ถือเป็นหัวใจของการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางของประเทศ โดยเมื่อดำเนินการก่อสร้างเสร็จตามแผนจะช่วยเพิ่มความเร็วของขบวนรถขนส่งสินค้าจาก 35 – 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 70 กิโลเมตร และรถไฟขบวนขนส่งผู้โดยสาร เพิ่มความเร็วจาก 50 – 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 120 กิโลเมตร รวมถึงยังก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งทางถนนไปสู่การขนส่งทางรางที่มีต้นทุนต่อหน่วยถูกลง ตลอดจนยังช่วยลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิง ซึ่งเป็นปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และส่งผลดีต่อการลดต้นทุน โลจิสติกส์โดยรวมของประเทศ จากปัจจุบันที่มีต้นทุนโลจิสติกส์เฉลี่ย ร้อยละ 14 ของจีดีพี ให้ลดลงได้อีกร้อยละ 2 ภายในอนาคต นอกจากนี้ งบประมาณในการลงทุนยังก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้และเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นประโยชน์ต่อประเทศอีกมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ