นายสนธิรันต์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาราคาปาล์มน้ำมันในประเทศตกต่ำว่า ในวันพรุ่งนี้ (13 พ.ย.) กระทรวงพาณิชย์จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการแก้ปัญหา ได้แก่ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นำน้ำมันปาล์มดิบไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยมีเป้าหมาย 160,000 ตัน/ปี เพื่อปรับสมดุลให้สต็อกน้ำมันปาล์มที่ปัจจุบันมีอยู่ 440,000 ตัน กลับเข้าสู่ภาวะปกติที่ประมาณ 200,000-250,000 ตันภายในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ จะขอ ครม.อนุมัติขยายระยะเวลามาตรการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบไปจนถึงเดือน ก.พ. 62 จากเดิมสิ้นสุดเมื่อเดือน ต.ค.61 โดยจะใช้งบประมาณ 525 ล้านบาท ในการชดเชยค่าขนส่ง 1.75 บาท/กิโลกรัม (กก.) ให้กับผู้ส่งออกเพื่อผลักดันน้ำมันปาล์มดิบออกนอกประเทศ โดยมีปริมาณเป้าหมาย 300,000 ตัน ภายใน 5 เดือน และมาตรการของกระทรวงอุตสาหกรรม คือ การเร่งรัดออกประกาศกำหนดให้โรงงานสกัดรับซื้อผลปาล์มที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันขั้นต่ำ โดยโรงสกัดเอ (ซื้อทั้งปาล์มทะลาย) ต้องซื้อเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มขั้นต่ำ 18% ขึ้นไป ส่วนโรงสกัดบี (ซื้อผลร่วง) ต้องซื้อขั้นต่ำ 30% ขึ้นไป หากต่ำกว่านั้นไม่ให้รับซื้อ หากใครรับซื้อจะมีความผิดทางกฎหมาย
สำหรับกรณีที่ประชาชนร้องเรียนเรื่องร้านธงฟ้าประชารัฐในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้นำน้ำมันปาล์มสำเร็จรูปบรรจุขวดที่นำเข้าจากมาเลเซียมาจำหน่ายนั้น รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในดำเนินการตรวจสอบแล้ว หากพบว่ามีการจำหน่ายจริงจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด โดยอาจถูกถอดชื่อจากการเข้าร่วมเป็นร้านธงฟ้าประชารัฐ เพราะน้ำมันปาล์มบรรจุขวดหรือถุงที่วางขายในร้านน่าจะเป็นการลักลอบนำเข้า เนื่องจากขณะนี้ผลผลิตปาล์มน้ำมันของประเทศเพื่อนบ้านมีจำนวนมาก และราคาต่ำกว่าของไทย
"น้ำมันปาล์มบรรจุขวดที่นำเข้ามาน่าจะเป็นการลักลอบนำเข้า เพราะหากนำเข้ามาอย่างถูกต้องมีการเสียภาษีจริงจะขายราคาต่ำกว่าปาล์มขวดของไทยไม่ได้ เพราะการนำเข้าน้ำมันปาล์มมีขั้นตอนมาก และต้องเสียภาษีนำเข้าสูงมาก ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์ติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว เพราะรู้ว่าในระยะนี้ประเทศเพื่อนบ้านมีน้ำมันปาล์มที่เหลือในระบบเยอะมาก และราคาก็ลดลงตามตลาดโลก อาจทำให้เกิดการลักลอบนำเข้ามาขายในไทย ซึ่งได้ประสานงานกับหน่วยงานความมั่นคงให้เข้มงวดดูแลตามแนวชายแดนแล้ว" นายสนธิรัตน์ กล่าว
สำหรับการนำเข้าน้ำมันปาล์มนั้น ไทยอนุญาตให้นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ, น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์, น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ใส่ขวด, น้ำมันปาล์มสำเร็จรูปพร้อมบริโภค และไขมันปาล์ม ตามที่มีผูกพันไว้ในกรอบองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) โดยกำหนดภาษีนำเข้าในโควตา 20% และกำหนดให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้นำเข้าแต่เพียงผู้เดียว ส่วนการนำเข้านอกโควตา กำหนดภาษี 143% โดยผู้ที่จะนำเข้าต้องขึ้นทะเบียนกับกรมการค้าต่างประเทศและปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด ขณะที่การนำเข้าภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) กำหนดภาษีนำเข้า 0% และให้ อคส.นำเข้าแต่เพียงผู้เดียว