ช่วงเช้าวันนี้นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) พร้อมด้วยพันธมิตรเข้ายื่นซองประมูลเป็นรายแรกอาศัยฤกษ์ดีเวลา 11.11 น. โดยกล่าวว่า เปิดเผยว่า กิจการร่วมค้า BSR เข้าร่วมลงทุนกันประมูลโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย BTS ร่วมลงทุน 60%, บมจ.ซิโนไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสครัคชั่น (STEC) ถือหุ้น 20% และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง (RATCH) ถือหุ้น 20%
ทั้งนี้ กลุ่ม BSR ได้ยื่นข้อเสนอในซองที่ 4 หรือข้อเสนอพิเศษด้วย ส่วนจะมีพันธมิตรรายอื่นเข้าร่วมหรือไม่ก็ต้องพิจารณาทีโออาร์ว่าเปิดให้เข้าร่วมทุนได้หรือไม่ ถ้าเปิดช่องให้ก็ทำได้ก็จะเชิญชวนผู้ที่สนใจรายอื่น ๆ เข้าร่วมด้วย
"คำว่าพันธมิตรมีหลายระดับ อาจจะเป็นผู้ร่วมทุน ร่วมพัฒนากับเรา เรามีพันธมิตรแน่นอนจำนวนไม่น้อย เรามายื่นวันนี้เราก็มั่นใจ ไม่อย่างนั้นเราไม่มา จุดเด่นเรามีพาร์ทเนอร์เป็นผู้รับเหมาอันดับต้นๆ ของประเทศก็น่าจะทำให้โครงการสำเร็จ และเรา (BTS) มีประสบการณ์การเดินรถไฟฟ้ามา 19 ปีแล้ว แม้ว่าจะไม่ใช่รถไฟความเร็วสูงก็ตาม แต่การเดินรถก็ไม่ได้แตกต่างเท่าไร เรามั่นใจว่าจะเป็นผู้เดินรถได้" นายสุรพงษ์ กล่าว
สำหรับงานก่อสร้างจะมี STEC เป็นผู้ดูแล ซึ่งบริษัทได้ติดต่อบริษัทรับเหมาขนาดกลางเข้ามารับช่วงงานรับเหมาก่อสร้างไว้แล้ว ส่วนงานระบบตัวรถจะมาจาก 4 ชาติทั้งจากเอเชียและยุโรป ขณะที่ระบบอาณัติสัญญาณยังไม่ได้เลือก ด้านงานการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็อาจจะพิจารณาพันธมิตรในภายหลัง ทั้งนี้ บริษัทจะเจรจากับผู้ที่จะพร้อมร่วมเป็นพันธมิตรเพิ่มเติมหลังจากรู้ผลการประมูล
"เราทำงานอย่างหนักใน 4-5 เดือนที่ผ่านมาก็ทำเต็มที่ คิดว่าเราทำทุกอย่างพร้อม เราก็ใช้มืออาชีพระดับโลก ผู้รับเหมาชั้นนำของประเทศ ซัพพลายเออร์ ซึ่งหากเราชนะก็จะเพิ่มพันธมิตรในภายหลัง ล้วนเป็นบริษัทขั้นนำ ซึ่งเรามั่นใจจะทำโครงการนี้ได้สำเร็จ" นายสุรพงษ์ กล่าว
ขณะที่ช่วงบ่ายวันนี้นายศุภชัย เจียรวนนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยว่า กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด เป็นแกนนำหลักถือหุ้น 70% ร่วมลงทุนกับกลุ่มพันธมิตรหลัก ได้แก่ กลุ่ม บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และ บมจ.ช.การช่าง (CK) ถือหุ้น 15%, กลุ่ม China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน) หรือ CRCC ถือหุ้น 10% และผู้ก่อสร้างและวางระบบราง และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ถือหุ้น 5%
ทั้งนี้ ยังมีพันธมิตรที่ต้องการร่วมลงทุนเพิ่มเติม ได้แก่ Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation for Transport & Urban Development (ประเทศญี่ปุ่น) หรือ JOINT, CITIC Group Corporation(สาธารณรัฐประชาชนจีน), China Resources (Holdings) Company Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน)
นอกจากนี้ ยังมีพันธมิตรร่วมสนับสนุนทางการเงิน ได้แก่ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ JBIC (ประเทศญี่ปุ่น) ส่วนระบบเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา ได้แก่ Ferrovie dello Stato Italiane (ประเทศอิตาลี ) พันธมิตรเรื่องระบบอาณัติสัญญาณและตัวรถไฟ ได้แก่ Siemen (ประเทศเยอรมัน) Hyundai (ประเทศเกาหลี) และจีน
"พันธมิตรที่มาร่วมมีครบทั้ง 4 ด้าน พันธมิตรที่ร่วมลงทุนก็มีเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง กลุ่ม BEM และ CK กลุ่ม CRCC และกลุ่ม ITD ส่วนพันธมิตรอื่นก็ยื่นความประสงค์การลงทุน JBIC ประสงค์สสนับสนุนเรื่องการเงิน ส่วน JOINT ประสงค์ที่จะลงทุน จีนก็มี CITIC และ CRC แจ้งความประสงค์เรื่องการลงทุน" นายศุภชัย กล่าว
นายศุภชัย กล่าวว่า เครือซีพีเปิดกว้างพันธมิตรทุกราย โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้งจะถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 26% หรือมากกว่า 26% อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางกลุ่มฯ จะไม่ได้หารือกับกลุ่ม ปตท.ไว้ก่อนหน้านี้ แต่ก็ยินดีหาก ปตท.และบริษัทคนไทยจะเข้าร่วมลงทุนด้วย เพราะบริษัทต้องการได้รับการสนับสนุนจากบริษัทคนไทย แต่คงต้องรอให้สรุปผลก่อน ซึ่งจะต้องขออนุมัติเพิ่มเติมจาก รฟท.
ทั้งนี้ กลุ่มฯ ได้ยื่นเสนอข้อเสนอพิเศษด้วย โดยเป็นแนวทางที่ต้องการสนับสนุนจากท้องถิ่น เพราะโครงการรถไฟนี้ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยกระจายความเจริญ และนำไปสู่การพัฒนาในแต่ละท้องที่ โดยไปพร้อมแผนพัฒนากับความยั่งยืน และที่สำคัญผู้พิการสามารถใช้บริการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
เหตุผลที่กลุ่มซีพีเข้าร่วมประมูลครั้งนี้ เพราะต้องการมาสนับสนุนและแสดงความมั่นใจต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ และเป็นนโยบายที่เชื่อมโยงกับนโยบาย EEC ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ รวมทั้งชักชวนพันธมิตรให้เข้ามาลงทุนในไทย
"การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นโครงการที่ได้ผลตอบแทนไม่สูง แต่ถ้าเรามองระยะยาว โครงสร้างพื้นฐานก็มีความมั่นคงต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นโครงการ PPP คือรัฐและเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งสุดท้ายคิดว่าด้วยการสนับสนุนของภาครัฐ หากมีการเกิดการลงทุนใน EEC อู่ตะเภา การเชื่อมโยงไปทางอีสาน คิดว่า EEC จะเป็นโครงการที่ทำให้รถไฟเชื่อม 3 สนามบินก็มีความมั่นคงไปด้วย และอยากสนับสนุนในฐานะบริษัทคนไทย" นายศุภชัย กล่าว
นายศุภชัย กล่าวว่า กลุ่มซีพียังไม่ได้ซื้อที่ดินรองรับโครงการนี้แต่อย่างใด มีแต่ที่ดินของกลุ่ม บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF)ที่มีอยู่ก่อนแล้ว
ขณะที่นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ รฟท.กล่าวภายหลังปิดรับการยื่นข้อเสนอเอกสารประกวดราคาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา)ว่า ในวันพรุ่งนี้ (13 พ.ย.) รฟท.จะเปิดซองคุณสมบัติก่อน ซึ่งจะใช้เวลาพิจารณาราว 1 สัปดาห์จึงจะรู้ผล จากนั้นจะพิจารณาด้านเทคนิคซึ่งคาดใช้เวลา 3 สัปดาห์จะรู้ผล โดยมีคณะกรรมการมาตรา 35 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ซึ่งนายวรวุฒิ เป็นประธาน เป็นผู้พิจารณา
หลังจากนั้น จะเปิดซองราคาคาดว่าจะรู้ผลภายใน 1 สัปดาห์ หากรู้ผลแล้วจะเจรจาต่อรองกับผู้ชนะ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ขณะเดียวกัน รฟท.จะส่งร่างสัญญาให้อัยการพิจารณาด้วย หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานให้พิจารณา คาดว่าจะสามารถเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีได้ประมาณกลางเดือน ม.ค.62
ทั้งนี้ รฟท.คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญากับเอกชนที่ดำเนินโครงการนี้ภายในวันที่ 31 ม.ค.62
ส่วนการพิจารณาซองประมูลที่ 4 หรือข้อเสนอพิเศษ นอกเหนือจากที่ TOR กำหนดไว้ คณะกรรมการฯ จะพิจารณาหลังจากลงนามสัญญาแล้ว
นายวรวุฒิ กล่าวว่า หากกลุ่มใดจะมีพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนเพิ่มเติมนอกเหนือจากนี้ ต้องรอให้เอกชนผู้ชนะนำเสนอเข้ามาและคณะกรรมการตามมาตรา 35 จะเป็นผู้พิจารณา โดยจะเป็นผู้ซื้อซองประมูลหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องมีเหตุผลว่าบริษัทจะเข้าร่วมทุนเพราะอะไร ขณะเดียวกันสัดส่วนการร่วมลงทุนไม่ควรเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ