นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง ในฐานะประธานการจัดประชุม เชิงปฏิบัติการการเสริมสร้างความร่วมมือในห่วงโซ่การผลิตภัณฑ์ยางพาราของประเทศไทยให้เข้มแข็งด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) ระหว่าง การยางแห่งประเทศไทย องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สหกรณ์ตราดยางพารา จำกัด องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ), FSC, PEFC กล่าวว่าที่ ผ่านมา กยท. ได้มีแนวทางในการสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางของ กยท. พัฒนาสวนยางให้เข้าสู่ระบบการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับมาตรฐานการจัดการสวนป่าเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนมี 2 มาตรฐานหลักๆ ได้แก่ FSC, PEFC โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืนมาตรฐานเลขที่ มอก. 14061 ซึ่งเป็นมาตรฐานการรับรองในระดับประเทศ กยท. ได้ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมในการปรับรูปแบบแนวทางการปฏิบัติของ กยท. ให้สอดรับกับมาตรฐานของ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สมอ. ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวสามารถนำไปเทียบเคียงกับมาตรฐาน FSC, PEFC ได้ในอนาคต โดย กยท. จะผลักดันให้สวนยางพาราของ กยท. ได้รับมาตรฐานดังกล่าวทั่วประเทศ
ด้านนางพจมาน วงษ์สง่า Senior Regional Manager ASEAN Sustainable Agrifood Systems (ASEAN SAS) ผู้แทนจาก GIZ (องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน) กล่าวว่า ปัจจุบันทาง GIZ จะเป็นองค์กรกลางที่ได้รับงบสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมัน ในการประสานระหว่างภาครัฐ เอกชน รวมถึงเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการเกษตรอยู่จำนวนทั้งสิ้น 9 โครงการ
โดยการประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร โอกาสนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ทาง GIZ ร่วมกับการยางแห่งประเทศไทยเปิดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการฯ เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยน หารือแนวทางต่างๆ ร่วมกัน เพื่อจะนำเทคโนโลยี ICT มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ต่อการพัฒนาสวนยางพาราของประเทศไทยให้ได้มาตรฐานตามที่ตั้งเป้าไว้ และเป็นการส่งเสริมเพิ่มมูลค่าของยางพารา ซึ่งหลังจากการประชุมในครั้งนี้ คาดจะมีแนวทางที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นเพื่อนำไปต่อยอดต่อโครงการต่างๆ ในอนาคต
FSC หรือ Forest Stewardship Council เป็นองค์กรเอกชนภายใต้ความร่วม-มือของกลุ่มต่างๆจากทั่วโลก อาทิ กลุ่มอนุรักษ์ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม ผู้ค้าไม้ ผู้ผลิตสินค้าจากไม้ และองค์กรผู้ให้การรับรองไม้ และผลิตภัณฑ์จากไม้ เพื่อจัดทำระบบการให้การรับรองไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ซึ่งเป็นการรับประกันว่า ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่ได้รับการประทับเครื่องหมาย FSC
PEFC หรือ Program for the Endorsement of Forest Certification Scheme เป็นองค์กรระดับนานาชาติที่ไม่หวังผลกำไร และมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน เช่นเดียวกันกับ FSC องค์กรนี้จัดตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2542 (1999) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิทเซอร์แลนด์