นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มอีก 3 พื้นที่ ได้แก่ 1.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม เนื้อที่ 1,363-2-17.1 ไร่ อัตราค่าเช่า 8,400 บาท/ไร่/ปี ปรับปรุงค่าเช่า 9% ทุก 3 ปี ค่าธรรมเนียมการเช่าไร่ละ 140,000 บาท/ไร่/50 ปี รวมอัตราค่าเช่า ค่าธรรมเนียมการเช่าทั้งแปลงขั้นต่ำในการเปิดประมูล อยู่ที่ 190.89 ล้านบาท
2.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร เนื้อที่ 1,081-0-23.1 ไร่ อัตราค่าเช่า 1,800 บาท/ไร่/ปี ปรับปรุงค่าเช่า 9% ทุก 3 ปี ค่าธรรมเนียมการเช่า 30,000 บาท/ไร่/50 ปี รวมอัตราค่าเช่าที่และค่าธรรมเนียมการเช่าทั้งแปลงขั้นต่ำในการเปิดประมูล 32.43 ล้านบาท
3.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย เนื้อที่ 718-0-46 ไร่ อัตราค่าเช่า 2,100 บาท/ไร่/ปี ปรังปรุงค่าเช่า 9% ทุก 3 ปี ค่าธรรมเนียมการเช่า 35,000 บาท/ไร่/50 ปี รวมอัตราค่าเช่าที่และค่าธรรมเนียมการเช่าทั้งแปลงขั้นต่ำในการเปิดประมูล 23.13 ล้านบาท
โดยจะเปิดจำหน่ายเอกสารการลงทุนถึงวันที่ 16 พ.ย.61 ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนสนใจซื้อเอกสารเพื่อเข้าร่วมลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม 4 ราย เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร 2 ราย และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย 4 ราย
"ตอนนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะเข้ามาลงทุนในไทยในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น อัตราดอกเบี้ยต่ำ มูลค่าการค้า การลงทุนในแถบชายแดนเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังจะได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งหากเป็น 13 กลุ่มกิจการเป้าหมายจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ลดหย่อน 50% อีก 5 ปี ของกำไรไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยสามารถยืนใช้สิทธิได้จนถึง 30 ธ.ค.63 ขณะที่กรมธนารักษ์เองก็มีมาตรการจูงใจในการลงทุน โดยภายในปีแรกหลังเซ็นสัญญาแล้วสามารถลงทุนได้ 10% ของเงินลงทุน ไม่รวมค่าที่ดินและเงินหมุนเวียน จะได้รับการยกเว้นค่าเช่า 2 ปี" นายอำนวย กล่าว
อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ลงนามในสัญญาเช่าที่ราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี เนื้อที่ 2,979-0-72 ไร่ กับบริษัท พร้อมเพรียงชัย ก่อสร้าง จำกัด โดยมีอัตราค่าเช่าพื้นที่และค่าธรรมเนียมทั้งสิ้น 78.57 ล้านบาท อายุสัญญาเช่า 50 ปี อัตราค่าเช่าไร่ละ 1,200 บาท ปรับปรุงค่าเช่า 9% ทุก 3 ปี ค่าธรรมเนียมการเช่าไร่ละ 20,000 บาทตลอดอายุสัญญาการเช่า โดยรูปแบบการลงทุนจะมีการจัดสรรพื้นที่การลงทุนให้เอกชนรายอื่นพัฒนา 8 โซน ได้แก่ 1.พื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น 2.พื้นที่โรงแรม 3.พื้นที่ศูนย์โลจิสติกส์ 4.พื้นที่เพื่อการพาณิชยกรรม 5.พื้นที่อยู่อาศัยและชุมชน 6.พื้นที่สาธารณูปโภค 7.พื้นที่เพื่อการจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย และ 8.พื้นที่เพื่อการจัดการระบบมูลฝอย รวมมูลค่าโครงการ 420 ล้านบาท
ทั้งนี้ ยอมรับว่ายังมีปัญหาชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรีจำนวน 54 ราย คิดเป็นพื้นที่กว่า 1 พันไร่ ซึ่งได้เร่งดำเนินการเจรจากับชาวบ้านในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่ยินยอมออกจากพื้นที่ โดยในส่วนนี้กรมธนารักษ์ได้ประสานกับจังหวัดในการจัดเตรียมพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ เพื่อรองรับประชาชนที่จะย้ายออกจากพื้นที่บุกรุก แต่ยังมีชาวบ้านบางส่วนไม่ยอมย้ายออกก็อาจต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องศาลปกครองต่อไป