กรมธนารักษ์ เล็งปรับค่าเช่าที่ราชพัสดุเชิงพาณิชย์เป็นแบบ ROA หนุนรายได้แตะ 1 หมื่นลบ.ในปีงบฯ 62

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 13, 2018 13:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับขึ้นค่าเช่าที่ราชพัสดุในเชิงพาณิชย์ทั้งประเทศ โดยจะคิดตามผลตอบแทนต่อมูลค่าสินทรัพย์ (ROA) ซึ่งจะปรับให้ขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 4% จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2% กว่า

อย่างไรก็ดี กรมธนารักษ์จะมีการทยอยปรับขึ้นค่าเช่าที่ราชพัสดุเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้การจัดเก็บรายได้ของกรมธนารักษ์ในปีงบประมาณ 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 1 หมื่นล้านบาท จากปีงบประมาณก่อนหน้าสามารถจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 7 พันกว่าล้านบาท

การปรับขึ้นค่าเช่าที่ราชพัสดุดังกล่าว จะดำเนินการกับผู้เช่าที่สัญญาเดิมครบกำหนดก่อน โดยสัญญาเช่าส่วนใหญ่มีอายุตั้งแต่ 10-30 ปี

ปัจจุบันกรมธนารักษ์มีที่ราชพัสดุทั้งสิ้น 12 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นการเช่าเพื่อเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยประมาณ 80% ซึ่งในส่วนนี้จะยังไม่มีการปรับขึ้นค่าเช่าอย่างแน่นอน ส่วนที่เหลืออีก 20% เป็นที่เช่าเพื่อการพาณิชย์มีอยู่ประมาณ 5 หมื่นสัญญาทั่วประเทศ

"หากคิดรายได้ค่าเช่าที่ราชพัสดุทั้งหมดของกรมธนารักษ์ตามหลัก ROA จะอยู่ต่ำกว่า 1% เพราะส่วนใหญ่เป็นการให้เช่าเพื่อการเกษตรและที่อยู่อาศัย ซึ่งกรมธนารักษ์ไม่มีนโยบายปรับขึ้น เพราะเงินที่ได้เพิ่มมาอยู่หลักร้อยล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่คุ้มเมื่อเทียบกับความเดือดร้อนที่ผู้เช่าจะได้รับเพราะมีภาระเพิ่มมากขึ้น" นายอำนวย กล่าว

อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมธนารักษ์ได้ปรับค่าเช่าเชิงพาณิชย์กับ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. ในการเช่าพื้นที่ราชพัสดุของสนามบินสุวรรณภูมิโดยคิดตาม ROA เช่นเดียวกัน และจะใช้วิธีการคำนวณในลักษณะเดียวกันกับสนามบินในประเทศแห่งอื่นๆ ที่เหลืออีก 6 แห่งเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง นอกจากนี้ในอนาคตกระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้ ทอท. เข้าไปบริหารสนามบินจังหวัดต่าง ๆ ก็ต้องมีการคิดค่าเช่าแบบใหม่ในลักษณะเดียวกัน

ทั้งนี้ การคิดค่าเช่าที่ราชพัสดุของรัฐวิสาหกิจก็ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีเช่นกัน โดยในส่วนของการเช่าที่ราชพัสดุของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) หรือการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จะใช้วิธีคิดแบบ ROA เหมือน ทอท.ไม่ได้ เพราะถือเป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่การปรับขึ้นราคาค่าเช่า จะส่งผลกระทบกับผู้อยู่อาศัยและผู้ใช้ไฟฟ้าได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ