นายพุทธิพงษ์ ปุณณะกันต์ รองเลขาธิการฝ่ายการเมือง ปฎิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาราคาปาล์มน้ำมันในประเทศตกต่ำ โดยได้ประสานงานกับกระทรวงพลังงานในการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นำน้ำมันปาล์มดิบไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าเป้าหมาย 160,000 ตัน/ปี เพื่อลดปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มในประเทศที่ปัจจุบันมีอยู่ 4.4 แสนตัน กลับเข้าสู่ภาวะเหลือสต็อกน้ำมันปาล์มดิบประมาณ 2-2.5 แสนตัน ให้ได้ภายในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ได้ขยายระยะเวลาส่งออกปาล์มไปอีก 6 เดือนจนถึงพ.ค.62 และเพิ่มการใช้การผลิตเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์ม จาก 6.5-7.0 เป็น 6.8-7
ในส่วนของน้ำมัน B20 ที่ใช้กับรถบรรทุก ซึ่งตั้งเป้ามีการใช้ 10 ล้านลิตร จากปัจจุบันปริมาณการใช้ 4 ล้านลิตร ซึ่งทำให้มีน้ำมันที่ไม่ได้ถูกน้ำไปใช้ 6 ล้านลิตร กระทรวงพลังงานจึงขออนุมัติจาก ครม.ให้ผลักดันให้เกิดการใช้ในรถบรรทุกทั้งรถบรรทุกขนาดใหญ่และรถบรรทุกขนาดเล็กมากยิ่งขึ้น
พร้อมกันนี้ได้อนุมัติการตั้งคณะอนุกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาปาล์ม ซึ่งมีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน รวมทั้งมีแนวทางเร่งเจรจาการส่งออกปาล์มไปประเทศในยุโรปที่อยากซื้อปาล์มจากไทย ให้แล้วเสร็จใน 2 เดือน ซึ่งคาดว่าน่าจะทำให้ราคาปาล์มขยับขึ้นมาได้จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.60 บาท/กก. เป็น 3.10 บาท/กก.ในระยะเวลาอันใกล้นี้
นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งหาแนวทางหรือมาตรการเร่งด่วนแก้ไขปัญหาราคายางพาราและเสนอกลับเข้ามาให้ได้ภายใน 7 วัน ซึ่งจากนี้ไปไม่เกิน 7 วันต้องหามาตรการให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ทั้งกระทรวงเกษตรฯและนายกรัฐมนตรีจะเร่งสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ปลูกยางได้ทราบเพื่อเร่งแก้ไขปัญหายางพาราที่มีปัญหาอยู่
"ภายใน 7 วันนี้น่าจะเห็นมาตรการที่ชัดเจนออกมา ทั้งเรื่องของต้นทุนการผลิต เรื่องการประกันราคายางสด หรือแม้กระทั่งสินค้าปลายทางที่จะใช้ส่วนประกอบจากยางพารา รวมถึงกรณีที่มีการผลักดันให้ส่วนราชการนำยางพาราไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น ถนนหรืออื่นๆ ก็จะเห็นได้ภายใน 7 วันและเชื่อว่าจะกระตุ้นให้ราคายางสูงขึ้นกว่าปัจจุบัน"นายพุทธิพงษ์ กล่าว