รมช.พาณิชย์ เผยอาเซียนบรรลุผลการจัดทำความตกลง 3 ฉบับ หวังขยายฐานการค้า-ลงทุน-พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 13, 2018 15:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน (อาเซียน ซัมมิต) ครั้งที่ 33 ที่สิงคโปร์ว่า เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 รัฐมนตรีเศรษฐกิจจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ ลงนามความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน เพื่ออำนวยความสะดวกการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างสภาพแวดล้อมที่จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ผ่านกลไกต่างๆ เช่น การคุ้มครองผู้บริโภค, การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

นอกจากนี้ ยังมุ่งให้เกิดการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดความแตกต่างของระดับการพัฒนาประเทศ โดยผ่านความร่วมมือต่างๆ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การส่งเสริมการศึกษาและเทคโนโลยี และการพัฒนาระบบโลจิสติกส์

"ความตกลงฉบับนี้ ถือเป็นความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ฉบับแรกของอาเซียน หลังจากการลงนามเมื่อวันที่ 12 พ.ย.61 แล้ว คาดว่าจะมีผลใช้บังคับช่วงต้นปี 62 หลังสมาชิก 10 ประเทศให้สัตยาบัน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้สมาชิกมีกลไกการค้าขายทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงเร่งรัดให้สมาชิกที่ยังไม่มีกฎระเบียบในด้านนี้ เช่น กัมพูชา เมียนมา และลาว มีกฎระเบียบที่มีมาตรฐานทัดเทียมสมาชิกอื่น เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคของไทย และช่วยให้การค้าผ่านอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียนขยายตัวมากขึ้น"

น.ส.ชุติมา กล่าวต่อว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังประสบความสำเร็จในการจัดทำเอกสารอีก 2 ฉบับ คือ ความตกลงการค้าบริการอาเซียน (ATISA) และเอกสารปรับปรุงความตกลงการลงทุนอาเซียน (ACIA) โดยATISA จะใช้แทนกรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียนฉบับปัจจุบัน โดยได้ปรับปรุงให้ทันสมัย และไม่เป็นอุปสรรคทางการค้าเกินความจำเป็น ซึ่งน่าจะช่วยให้ธุรกิจจบริการที่ไทยมีศักยภาพ สามารถเติบโตมากขึ้นในประเทศอาเซียน เช่น บริการสุขภาพ, บริการด้านการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร,บริการด้านก่อสร้าง, บริการด้านการจัดประชุม และการจัดนิทรรศการ เป็นต้น ขณะเดียวกัน ยังช่วยเพิ่มความโปร่งใสในการใช้มาตรการทางการค้าบริการของอาเซียน เพราะสมาชิกต้องเผยแพร่ระเบียบ กฎเกณฑ์ด้านการลงทุนต่อสาธารณะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของนักลงทุน

สำหรับ ACIA ฉบับปรับปรุงใหม่ มีสาระสำคัญ คือ การขยายขอบเขตการห้ามกำหนดเงื่อนไขต่อนักลงทุนในการที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศอาเซียนอื่น แต่ยังเปิดช่องให้สมาชิกบริหารจัดการนโยบายของตนได้ โดยสามารถสงวนมาตรการที่มีความอ่อนไหว ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการลงทุน สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน และอำนวยความสะดวกการลงทุนได้

อนึ่ง การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ประกอบด้วยผู้นำอาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจา 6 ประเทศ คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีกำหนดจะออกแถลงการณ์ร่วม ประกาศความสำเร็จการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ซึ่งสามารถเจรจาเสร็จสิ้นแล้วใน 7 เรื่องภายในปีนี้ตามเป้าหมาย เช่น พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า, การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ, มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช, มาตรฐานกฎระเบียบทางเทคนิค, ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ, วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นต้น ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่เหลือ เช่น การเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน, นโยบายแข่งขัน, กฎถิ่นกำเนิดสินค้า เป็นต้น ไทยในฐานะประธานอาเซียน จะผลักดันการเจรจาให้เสร็จสิ้นทุกเรื่อง และลงนามความตกลงภายในปี 62


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ