นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) กล่าวว่า นางอีมิลี ฟาน เดเวนเตอร์ หัวหน้าคณะรังสีวิทยา องค์การอนามัยโลกทำหนังสือตอบกลับมาแล้วกรณีสำนักงาน กสทช.ได้สอบถามในประเด็นความปลอดภัยจากคลื่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่งสัญญาณผ่านสถานีฐาน ดร.เดเวนเตอร์ ยืนยันผลการศึกษาช่วงระยะ 10 ปีระหว่างปี 2539-2549 ระบุไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถชี้ได้ว่าการส่งสัญญาณในคลื่นความถี่ระหว่าง 0-300 กิกกะเฮิร์ตซ์ จากสถานีฐานและการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่มีผลร้ายแรงต่อสุขภาพ
นายฐากร กล่าวว่า ดร.ฟาน เดเวนเตอร์ ยังระบุในจดหมายว่าในปี 2553 คณะนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก ได้ศึกษากรณีการส่งคลื่นสัญญาณเฉพาะโทรศัพท์เคลื่อนที่จากสถานีฐานก็ยังไม่พบหลักฐานว่าคลื่นความถี่มีผลต่อสุขภาพ องค์การอนามัยโลกยังศึกษาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันถึงความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพร่างกายกับการปล่อยคลื่นความถี่จากอุปกรณ์ไร้สายและสถานีส่งสัญญาณคลื่นโทรศัพท์ ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์ใดๆอีกเช่นกัน
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกจะจัดประชุมในประเด็นคลื่นความถี่จากโทรศัพท์มือถือกับสุขภาพของผู้คนอีกครั้งในเดือน มิ.ย.2562 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ องค์การอนามัยโลกเชิญตัวแทน กสทช.ไปร่วมประชุมด้วย
กสทช. เข้าร่วมการประชุมความร่วมมือระดับโลกว่าด้วยนโยบายด้านสุขภาพและการวิจัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือกลอร์ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 12-14 พ.ย. 2561 โดยได้รายงานสภาพปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการขยายโครงข่ายโทรคมนาคมของประเทศไทยว่ามีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง โดยเฉพาะความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพจากการตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชนคนไทย อันเนื่องมาจากพัฒนาการที่รวดเร็วของการขยายโครงข่ายการใช้งานคลื่นความถี่แบบไร้สายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
สำหรับการร้องเรียนเรื่องสุขภาพมีหลากหลายในแง่ของผลกระทบเช่น ปวดศีรษะ หน้ามืด อ่อนแรง หรือแม้แต่อ้างว่าเป็นมะเร็งเป็นต้น ซึ่งการร้องเรียนต่างๆเหล่านี้ส่งไปยังหลายหน่วยงานทั้งในระดับท้องถิ่น สื่อสาธารณะ หรือแม้แต่ศาลปกครอง สำนักงาน ได้ออกประกาศในปี พ.ศ. 2549 เพื่อบังคับใช้มาตรฐานการส่งสัญญาณคลื่นความถี่ของ 1998 ICNIRP ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลในการกำกับการปล่อยคลื่นความถี่ รวมถึงจำกัดความแรงของคลื่นที่สถานีฐานปล่อยออกมา มาตรฐานอันนี้เป็นแนวทางที่หลายๆประเทศรวมถึงสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และองค์กรอนามัยโลก เลือกใช้
นอกจากนี้ ทางสำนักงาน กสทช. มีทีมเจ้าหน้าที่ 25 นาย สุ่มตรวจสอบสถานีฐานทั่วประเทศว่าเป็นไปตามข้อกำหนดของหลักเกณฑ์ดังกล่าวหรือไม่ รวมถึงยังจัดการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ประชาชนร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องของความปลอดภัยของการใช้งานคลื่นความถี่ และให้ทางผู้ประกอบการเอกชนสร้างความรู้และความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ที่มีการติดตั้งสถานีฐานอีกด้วย แม้ว่าทางสำนักงานจะใช้หลักมาตรฐานสากลในการควบคุมการปล่อยคลื่นความถี่ของสถานีฐานและการสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน แต่ก็ยังพบข้อร้องเรียนในเรื่องดังกล่าวมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง กสทช. คิดว่าความกังวลของประชาชนในเรื่องนี้จะเป็นอุปสรรคสำคัญของประเทศในการเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่การใช้คลื่นความถี่ในการติดต่อสื่อสารของเทคโนโลยีนั้นมีแต่จะมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่ 5G ที่ต้องวางเสาสัญญาณมากกว่าเทคโนโลยี 3G และ 4G ที่ใช้ในปัจจุบัน