"ศุภวุฒิ"มองภาพเศรษฐกิจไทยปี 62 โตต่ำกว่า 4% หวังเอกชนลงทุนเพิ่มแรงขับเคลื่อน,เลือกตั้งยังไม่กระตุ้นมาก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 14, 2018 15:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวในงานสัมมนา "THAILAND 2019" เมื่อคนเปลี่ยน แลนด์สเคปธุรกิจโลกเปลี่ยน ธุรกิจไทยจะก้าวไปอย่างไรว่า เบื้องต้นภาพเศรษฐกิจไทยในปี 62 จะเติบโตต่ำกว่าระดับ 4% ซึ่งเป็นอัตราชะลอตัวลงจากปีนี้ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 4.3% โดยภาคการท่องเที่ยวซึ่งคิดเป็นประมาณ 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะฟื้นตัว และการส่งออกสินค้าจะเติบโตได้ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจใหม่ คือการที่ภาครัฐสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการผลักดันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ทั้งนี้ ยังต้องจับตาการผลักดันลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐนั้น จะหนุนให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนตามมาหรือไม่ หลังจากที่ในปีนี้การลงทุนของภาคเอกชนเติบโตเพียง 3.5% หากโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จก็ควรจะเห็นการลงทุนของภาคเอกชนเติบโตมากกว่า 3.5% ค่อนข้างมาก หรือเติบโตสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์

นายศุภวุฒิ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังผลักดันหลักในขณะนี้ คือการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งจะเป็นการนำทรัพย์สินที่มีการใช้น้อยกลับมาใช้ให้คุ้มค่า โดยเฉพาะสนามบินอู่ตะเภาที่ปัจจุบันรองรับผู้โดยสารอยู่เพียง 1 ล้านคน ก็จะสามารถผลักดันให้รองรับได้ถึง 20-30 ล้านคน ก็จะหนุนให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลยังมีแผนการจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน และจะมีอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้น โดยคาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมอย่างน้อยในช่วงครึ่งหลังปี 62

สำหรับปัจจัยทางด้านการเมืองของไทย นายศุภวุฒิ กล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งที่มีความชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 62 จะทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น เพราะการเลือกตั้งเป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ขณะที่ไทยไม่มีการเลือกตั้งมาเป็นเวลาประมาณ 8 ปี จึงเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับการเลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่อย่างในปัจจุบัน ทำให้มองว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 62 จะเป็นเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมือง การนับคะแนน การจัดตั้งรัฐบาล ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ยัง wait & see ว่ารัฐบาลใหม่จะมีนโยบายอย่างไร และมีศักยภาพ ตลอดจนเสถียรภาพทางการเมืองในระดับไหน และในช่วงครึ่งหลังของปี 62 ก็จะมุ่งที่การบริหารจัดการการเมืองและความไม่แน่นอนให้หมดลงไป

ด้านปัจจัยต่างประเทศที่การส่งออก คิดเป็นสัดส่วน 50% ของจีดีพี และการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 15% ของจีดีพี ทำให้กำลังซื้อที่มาจากภายนอกคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของจีดีพีจะได้รับผลกระทบอย่างไร ท่ามกลางประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่เกิดขึ้น ขณะที่ด้านตลาดยุโรป ก็ยังไม่สามารถที่จะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกได้ หลังยังมีปัญหางบประมาณของอิตาลี และกรณีการถอนตัวจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) รวมถึงเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศแกนหลักของยุโรปก็จะออกจากการมีบทบาททางการเมือง

ด้านจีนก็จะเป็นลักษณะการประคองตัว และใช้นโยบายให้ค่าเงินหยวนทยอยอ่อนค่า เพื่อรับมือกับสงครามการค้า ซึ่งการลดค่าเงินนับเป็นการลดอำนาจซื้อลง ขณะที่การอ่อนค่าของเงินหยวน กดดันให้ค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) อ่อนค่าลงด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อตลาดโลกให้ลดลงไปด้วยในปี 62

"มองดูเศรษฐกิจโลก ค่าเงินที่ไม่ชัดเจน คุณเป็นนักลงทุน คุณเป็นผู้บริหารบริษัทใหญ่ ๆ ก็ wait & see เหมือนกัน เกรงว่าการลงทุนของโลกจะแผ่ว"นายศุภวุฒิ กล่าว

นายศุภวุฒิ กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ น่าจะยังคงมีทิศทางปรับขึ้นในเดือน ธ.ค.นี้อีก 1 ครั้ง และในปี 62 ปรับขึ้นอีก 3 ครั้ง เพราะเศรษฐกิจสหรัฐปรับขึ้นอย่างร้อนแรงจึงจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม ไทยจะจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่นั้น อยู่ที่ภาครัฐจะพิจารณา โดยเฉพาะในกรณีที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำเพียงแค่ 1% ,การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดยังแข็งแกร่งอยู่ในระดับ 7-8% ของจีดีพีในปีนี้ และคาดว่าจะอยู่ระดับ 6-7% ของจีดีพีในปีหน้า ซึ่งเงินทุนยังไหลเข้าประเทศ จากภาคการส่งออกที่มากกว่าการนำเข้าเดือนละ 2-3 พันล้านเหรียญสหรัฐ

"ประเด็นที่น่าสนใจต้องดูค่าเงินดอลลาร์ไปทางไหน แนวโน้มก็คงจะแข็งค่าขึ้น ก็ต้องดูว่าเรามีศักยภาพที่จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ คือดูว่าดุลบัญชีเดินสะพัดยังสูงอยู่หรือเปล่า นักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาหรือเปล่า การส่งออกสินค้าโดยรวมเป็นอย่างไร คือภาพรวมการมองภาพเศรษฐกิจไทยในปีหน้า สิ่งที่เราคงจะเห็นครึ่งปีแรกเราก็คงจะพะวงสนใจหาคำตอบให้ตัวเองด้านการเมือง และครึ่งหลังประเมินว่ารัฐบาลใหม่จะมีนโยบายอะไรที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ"นายศุภวุฒิ กล่าว

ด้านนางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดุสิตธานี (DTC) กล่าวว่า การปรับตัวของภาคธุรกิจการท่องเที่ยวไม่ได้เป็นเพียงแค่ในระยะสั้นปี 62 แต่ควรจะต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว ที่ทิศทางของภาคการท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น นักเดินทางท่องเที่ยวในปัจจุบันจะเป็นการเติบโตของชนชั้นกลาง และผู้เดินทางส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งอาจทำให้รูปแบบของการให้บริการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่นักเดินทางจากภาตตะวันตกต้องการรับบริการในรูปแบบหนึ่ง แต่ในภาคเอเชียต้องการรับบริการในรูปแบบหนึ่ง ,การนำเทคโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาร่วมให้บริการ ,ฝึกบุคลากรเพื่อรองรับกับการให้บริการ ,การมีโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอกับการอำนวยความสะดวกของนักท่องเที่ยว ตลอดจนการท่องเที่ยวด้วยการรักษาสิ่งแวดล้อมและให้เกิดความยั่งยืน เป็นต้น

ทั้งนี้ เห็นว่าภาคธุรกิจจะต้องพึงมีปัจจัย 3 ด้านเพื่อรองรับและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาเที่ยวไทย เช่น ความสะดวกสบายในการเข้าถึงบริการ , ประสบการณ์ที่ดีเหนือความคาดหมาย และความคุ้มค่าให้กับผู้รับบริการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ